รัฐส่งสัญญาณลดค่าไฟ เดือน พ.ค.-ส.ค.
“ค่าไฟฟ้า” ถือว่าเป็นต้นทุนการทำธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนประมาณ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าไฟฟ้านั้นคิดเป็นต้นทุนประมาณ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด ตามผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
การปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวล และได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข เพราะต้นทุนที่สูงในส่วนนี้จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคได้ลำบาก โดยมีการยกตัวเลขค่าไฟฟ้าของเวียดนามที่อยู่ในระดับที่ต่ำประมาณ 2.8 บาทต่อหน่วย ขณะที่ประเทศไทยค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 5.33 บาทต่อหน่วยซึ่งสูงกว่าเกือบเท่าตัว
ต้นทุนค่าไฟไทยยังสู้คู่แข่งไม่ได้
ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมาทำให้มีข้อกังวลว่าไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ต้องรับภาระจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น แต่ประชาชนทั่วไปจะได้รับภาระจากการส่งผ่านต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นมายังประชาชนด้วย และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้ ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา
ในปี 2565 ค่าไฟในประเทศไทยขยับขึ้นตามค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่า FT ซึ่งองค์ประกอบนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 70% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นโดยในปี 2565 ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกบางช่วงนั้นเพิ่มไปสูงถึงในระดับ 40 – 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากระดับปกติที่อยู่ไม่เกิน 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก่อนจะปรับลดลงมาในช่วงต้นปี 2566
โดยราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยปรับเพิ่มขึ้นไปมากโดยค่าไฟเดือน ม.ค. – เม.ย.2566 คือ ภาคครัวเรือนคิดค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.72 บาท และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น กลุ่มธุรกิจ คิดอัตราหน่วยละ 5.33 บาท
ราคาก๊าซฯลดเอื้อปรับลดค่าไฟ งวด พ.ค. – ส.ค.
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มจะคลี่คลายลงได้เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเริ่มมีทิศทางราคาที่ลดลง กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติลดลง โดยราคาก๊าซธรรมชาติ LNG Spot ลดลงมากเหลือ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะสภาพอากาศในสหภาพยุโรปไม่ได้หนาวมากตามที่ประเมินไว้ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาตินั้นลดลง ดังนั้นถ้าราคาก๊าซนำเข้าอยู่ในระดับนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ทิศทางราคาค่าไฟฟ้างวดใหม่ในเดือน พ.ค. – ส.ค. ก็จะถูกลงได้
อีกทั้ง ในช่วงของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ช่วง Peak) จะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.เม.ย. 2566 ทำให้สถานการณ์แผนรับมือพลังงานฉุกเฉินผ่อนคลายขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดต่อไป อีกทั้ง หากราคานำเข้าก๊าซลดลงก็อาจจะปรับลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าต่างๆลดลง ซึ่งกระทรวงได้พยายามบริหารจัดการเพื่อบริหารต้นทุนอย่างคุ้มค่าสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด
ลุ้นค่าไฟธุรกิจ – อุตสาหกรรมต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้หากสถานการณ์ราคาก๊าซฯ เข้ายังทรงตัวอยู่ระดับนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นค่าเอฟทีงวด 2 มีแนวโน้มลดลงได้ แต่จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วยตามที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ คงต้องพยากรณ์จากหลายปัจจัย ซึ่งขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างนำรายละเอียดต้นทุนต่าง ๆ มาพยากรณ์อยู่ทั้งปัจจัยราคาก๊าซที่นำเข้า ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่จะนำมาใช้ เป็นต้น
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. จะทำตัวเลขเปรียบเทียบเพื่อกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ได้แก่ การคำนวนราคาก๊าซนำเข้า อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงเงินค้างจ่าย ค่าFt ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันจ่ายคืนให้กฟผ.หน่วยละ 22 สตางค์ ซึ่งต้นทุนทั้งหมดจะต้องหารือกับรัฐบาลว่าจะกำหนดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราเท่าไหร่
สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าในงวดปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรือว่ากลุ่ม “เปราะบาง” โดยให้ส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติประชาชนยังไม่ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.ซึ่งอาจจะรวมไปถึงเดือน ก.พ.ด้วยหากยังไม่สามารถหานำเงินจากแหล่งเงินที่กำหนดไว้คือจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และจากงบกลางฯรายจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 การลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนก็ยังไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วนี้ มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤตพลังงาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ การปรับปรุงแนวทางการให้ความร่วมมือของ ปตท. ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2566 วงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท และให้ กฟผ. สามารถนำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าว ไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
ก่อนหน้านี้บริษัท ปตท.ได้มีการอนุมัติการเยียวยาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในวิกฤติค่าไฟแพง โดยตอบรับคำขอของรัฐบาลในการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม ลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท โดยมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อไป
ส่วนเงินอีกส่วนที่ใช้งบกลางฯเพื่อจ่ายเยียวยาประชาชนผุ้มีรายได้น้อยยังคงรอการจัดสรรจากสำนักงบประมาณเพื่อนำไปช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มเป้าหมายได้โดยเร็วที่สุด หลังจากที่ได้มีการขอใช้งบกลางฯช่วยเหลือค่าไฟประชาชนช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค.2565 มาแล้ว
ก.พ.ช.วางระบบนำเข้าก๊าซแก้ค่าไฟแพงในระยะยาว
ทั้งนี้นอกจากการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะสั้นรัฐบาลยังมีการวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว อย่างยั่งยืน โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ กพช. ได้เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา LNG ในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก
ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้มีการดำเนินการโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับใบอนุญาต Shipper (LNG Shipper) ทั้ง 8 ราย มาหารือถึงปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งได้ประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์ราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Shipper รายใหม่ ไม่สามารถแข่งขันกับ Shipper รายเดิมในกลุ่ม Regulated Market ได้
วางแนวทางบริหารก๊าซฯระยะที่ 2
ที่ประชุม กพช.ยังมีมติให้การดำเนินการตามแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้พลังงาน และเกิดประโยชน์ต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยมีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยมีโครงสร้างกิจการ ดังนี้
1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ PTT Shipper บริหารจัดการ Old Supply และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay
2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager รวมทั้ง ให้ดำเนินการจัดตั้ง Transmission System Operator (TSO) เป็นนิติบุคคลใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566
3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager
ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่ม Partially Regulated Market ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง
โดยมอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว
ปรับเงินลงทุนโรงไฟฟ้าบางประกงไปพระนครใต้
ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุนโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากโรงไฟฟ้าบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช. ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และ มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
นอกจากนี้ที่ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ตามแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แทนการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)
วางเกณฑ์ส่งเสริมระบบกักเก็บคาร์บอนหนุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ
ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2575 ที่มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทางของอุตสาหกรรม New S Curve ของประเทศไทย โดยมีแนวทางการส่งเสริมให้แบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรม New S Curve จะครอบคลุม 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้แบตเตอรี่ในประเทศ
2.การผลิตระบบกักเก็บพลังงาน เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแข่งขันการผลิตของประเทศในห่วงโซ่มูลค่า และการผลิตแบตเตอรี่เพื่อความยั่งยืนในประเทศ
3.กฎหมาย และมาตรฐาน มุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานของประเทศให้สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
และ 4.การวิจัยและพัฒนาและสร้างบุคลากรรองรับ เป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเป็นการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรภายในประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน กำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2575 และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป
ต้องจับตามองว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลจะปรับลดราคาค่าไฟให้กับประชาชน และภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพราะแม้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกยังลดลง แต่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันเริ่มมีเรื่องของเงินบาทที่อ่อนค่า รวมทั้งยังมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายเงินคืน กฟผ.ที่แบกรับภาระค่า FT ยังมีอยู่อีกมาก ต้องกูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรในช่วงการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาในครั้งนี้