‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’ เปิดผลการศึกษา สรุปบทเรียน ‘ไทยเดินเรือทะเล’
‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’ เป็นถ้อยคำที่กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม เปิดรับฟังความเห็นเอกชน (Market Sounding) ถึงแนวคิดการปลุกปั้นสายการเดินเรือแห่งชาติให้เป็นจริงอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ‘บจ.ไทยเดินเรือทะเล’ ในฐานะสายการเดินเรือแห่งชาติ ปิดตำนานลง
โดยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวถึงแผนงานหลังจากนี้ว่า จะสรุปการศึกษาภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน มี.ค. 2566 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
เหตุผล ‘ฟื้น’ สายการเดินเรือแห่งชาติ
เหตุผลสำคัญที่ต้องกลับปลุกปั้นกันอีกครั้ง ในรายงานผลการศึกษาระบุถึงสาเหตุที่ต้องทำไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย
1.กองเรือพาณิชย์ไทยมีขนาดเล็กระวางบรรทุกน้อยไม่สามารถขนส่งระยะไกล
2.สัดส่วนเรือส่งสินค้าออกและเข้าเรือไทยมีเพียง 9% ขณะที่สัดส่วนเรือต่างชาติอยู่ที่ 91%
3.ขาดดุลค่าระวางขนส่งสินค้า 90% คิดเป็นมูลค่า 1.33 ล้านล้านบาทตอปี
4.ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น
5.ขาดแคลนแรงงาน จำนวนเที่ยวเรือลดลง
ขณะที่เจ้ากระทรวงคมนาคม ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ เคยให้เหตุผลในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ไว้ว่า เนื่องจากรัฐบาลกำลังปลุกปั้นโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย และ อันดามัน คาดว่าจะมีการดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570 ส่วนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในการผลิตสินค้า อุปกรณ์ต่างๆจำนวนมากและคาดว่าโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจึงเล็งเห็นความสำคัญหากมีสายการเดินเรือแห่งชาติ จะทำให้การบริการจัดการ ขนส่งสินค้าทั้ง ส่งออก นำเข้าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่า(จท.) ยังมีหน่วยงานผลิตบุคลากรทางด้านพาณิชย์นาวี หากประเทศไทยมีสายการเดินเรือของตนเองจะช่วยส่งเสริมบุคคลากรคนไทยให้ทำงานกับกองเรือไทย
อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ ที่มีธงไทย เป็นของคนไทย แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมเคยมี บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด(บทด.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ที่กำกับและดูแลกองเรือไทย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ดังนั้นหากจะมีการส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเรือเป็นของคนไทย เช่น ประเทศไทยมีสายการบินแห่งชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้การส่งเสริมพัฒนาการขนส่งทางน้ำมีความสมบูรณ์มากขึ้น
แม้เหตุผลในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ จะเต็มไปด้วยแง่ดีแง่งาม และความตั้งใจดี แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีสายการเดินเรือแห่งชาติอย่าง บจ.ไทยเดินเรือทะเล มาแล้ว แต่เคยคิดหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดถึงปิดฉากลงไปเมื่อปี 2551?
รู้จัก ‘ไทยเดินเรือทะเล’
สำหรับ บจ. ไทยเดินเรือทะเล (บทด.) ก่อตั้งในปี 2483 อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 10 ล้านบาท ในช่วง 2500 -2520 บทด.มีกองเรือรวม 16 ลำ รวมระวางบรรทุก 200,000 เดทเวทตัน ระยะแรกยังสามารถประกอบกิจการจนมีกำไร แต่ระยะหลังเรือเริ่มมีสภาพเก่าชำรุด ทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจการจะใช้บริการ ประกอบการรัฐบาลบางสมัยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องพาณิชย์นาวี บบทด.จึงมีผลประกอบการขาดทุนในที่สุด และในปี 2529 จำต้องขายเรือลำสุดท้ายในมือออกไปทั้งหมด และมีผลขาดทุนสะสม 300 ล้านบาท
ในปี 2530 บดท.มีแผนเสนอให้แปรรูปองค์กรโดยดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แต่ไม่ได้การตอบรับเรื่อยมา จนภายหลังมีความพยายามที่จะเพิ่มทุนและแปรรูปอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และสุดท้ายในปี พ.ศ. 2554 คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติให้ยุบเลิกกิจการไป
เหตุผลที่ไปไม่ถึงฝั่ง
ในผลการศึกษาได้สรุปบทเรียนความผิดพลาดของไทยเดินเรือทะเลไว้ 4 ประการคือ
1. ผู้บริหารขาดประสบการณ์ ความเข้าใจ ในการดำเนินธุรกิจเดินเรือ
2. มีภาระที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐ ที่นำมาบังคับใช้ กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
3. บริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษในการขนสินค้าของภาครัฐ โดยที่บริษัทฯ ไม่มีเรือเป็นของตนเอง
4. ภาพลักษณ์การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้าง ความสนใจ และไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนที่เป็นสายการเดินเรือชั้นนำจากต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากเหตุผล 4 ประการแล้ว ในบทความวิชาการ เรื่อง บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด โดย คุณจิตติมา คุปตานนท์ จัดทำขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2537 ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหลังจากที่รัฐบาลชุดพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ บจ.ไทยเดินเรือทะเล เป็น สายการเดินเรือแห่งชาติแล้ว หลังจากช่วงสถาปนาองค์กรเมื่อปี 2483 ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติ
ในบทความดังกล่าว วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ บจ.ไทยเดินเรือทะเล ไม่มีศักยภาพพอจะไปแข่งขันกับสายการเดินเรือต่างประเทศได้นั้น มาจากผู้บริหารแต่ละชุดขออง ไทยเดินเรือทะเล มีเป้าหมายแตกต่างกันไปตามนโยบายของพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์ในแต่ละช่วงเวลา จนบางครั้งเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการบริหารของไทยเดินเรือทะเล กับนักการเมืองที่มีอำนาจเข้ามาดูแล เช่น ในปี 2528 เมื่อนพ.บุญเทียม เขมาภิรัตน์ รมช.คมนาคมในช่วงนั้นใช้อำนาจแต่งตั้งตัวแทนขนส่งอาวุธในสหรัฐอเมริกาเป็นบริษัทหนึ่ง แต่กองทัพไปจ้างอีกบริษัทหนึ่งแทน ทำให้ไทยเดินเรือทะเลสูญรายได้ไป 150 – 200 ล้านบาท ทำให้ พล.ร.อ.อดุลย์ ตุลยานนท์ ในฐานประธานคณะกรรมการ และนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบ
นอกจากเหตุผลนี้แล้ว ในบทความยังวิเคราะห์ด้วยว่า อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยเดินเรือทะเลแข่งกับคนอื่นไม่ได้ เพราะว่า โครงสร้างในการบริหารองค์กร มีแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ (ทร.) ซึ่งแม้ว่าจะเชี่ยวชาญในการเดินเรือและประเด็นทางเทคนิค แต่ด้านหนึ่งก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในการในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ได้
ดังนั้น หากจะปลุกปั้น ‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’ ให้ธงไทยโบกสะพัดไปทั่วน่านน้ำ ผู้มีอำนาจจึงควรเก็บบทเรียนจากความล้มเหลวของ บจ.ไทยเดินเรือทะเลให้ดี ไม่อย่างนั้น อาจจะต้องมานั่งนับถอยหลังวันสุดท้ายของว่าที่ สายการเดินเรือแห่งชาติใหม่นี้กันอีกรอบ