2 ป. ฝ่า 3 ด่านหิน ล็อบบี้ 250 ส.ว. ลุ้น นายกฯ คนละครึ่ง

บิ๊กป้อม – บิ๊กตู่ ถึงคราวต้องจากกัน แต่ไม่แยกขาด เพราะจำเป็นต้องแชร์อำนาจร่วมกันของ 2 ป. ทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังเลือกตั้ง

พรรคพี่ – พลังประชารัฐ ที่มี พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ต้องยอมแบ่ง ส.ส. ไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ได้เป็น นายกรัฐมนตรีอีกสมัย เป็นสมัยที่ 3
เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2560 มาตรา 159 พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องรับได้การเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ 25 คน จากจำนวนส.ส.ในสภาทั้งหมด 500 คน
อดีต ส.ส.พลังประชารัฐที่ย้ายพรรคไปอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในปัจจุบัน ได้แก่ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี
นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส.สระบุรี นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี นายประสิทธ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม.
นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช นายศาตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา
น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ และนายมานัส อ่อนอ้าย ส.ส.พิษณุโลก

นอกจากต้องยอมกลืนเลือดแล้ว บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร ต้องแบกสังขารไปปาดหน้า ส.ส.บ้านใหญ่ ที่มีความคิดจะตีจาก ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ แปรพักต์ ไปอยู่กับพรรคขั้วตรงข้าม อย่างพรรคเพื่อไทย
แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยก็ตาม เช่น การปาดหน้าทุกพรรค ไปจังหวัดราชบุรี เพื่อไปรั้งตัวบ้านใหญ่นิติกาญจนา และจังหวัดนครสรรค์ของนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.ปากน้ำโพ

พรรคน้อง-รวมไทยสร้างชาติ ที่มี น้องเล็ก บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสมาชิกพรรค-ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นอกจากอ้าแขนรับ ส.ส.ก้นถุงจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว
ยังยึดโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นับรวมถึงการแต่งตั้งคนของพรรครวมไทยสร้างชาติให้ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ นายชัชวาลล์ คงอุดม นายชุมพล กาญจนะ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 มีมติแต่งตั้ง นายสยาม บางกุลธรรม และนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ เป็นประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
การแตกแบงก์พันเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง ภายใต้กติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ เลือกคนที่ใช่-เลือกพรรคที่ชอบ หารด้วย 100 หรือ 3.5 แสนคะแนน นักวิเคราะห์การเลือกตั้งมองว่า กลายเป็นพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก
แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะไม่ตรงกับการคาดเดา เพราะยุทธศาสตร์การเดินของพี่-น้อง 2 ป.ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ ปักธง ส.ส.เขต เพราะ ส.ส.ที่อยู่บ้านใหญ่ยังอยู่กันครบ
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ เก็บกวาด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร ต้องผ่าน 3 ด่านหิน ด่านแรก พรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ – ทั้งสองพรรคต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง ด่านที่สอง พรรคใดพรรคหนึ่ง ต้องได้ ส.ส.ขั้นต่ำ 126 ที่นั่ง เพื่อสร้างความชอบธรรม
ด่านที่สาม เป็นแกนนำรวมเสียงจากพรรคการเมืองให้ได้ 250 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เสียงปริ่มน้ำ แต่พล.อ.ประวิตรจะได้เปรียบตรงที่สามารถจับมือกับพรรคขั้วฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทยได้มากกว่าพล.อ.ประยุทธ์
นอกจากพล.อ.ประวิตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ-พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องผ่านทั้งสามด่านแล้ว
พี่-น้องต้องตกลงกับ ส.ว.250 คน ที่มีทั้งสายของพล.อ.ประยุทธ์ และสายของพล.อ.ประวิตร ให้ได้ว่าจะเทคะแนน ไม่ให้เสียงแตก เพื่อรวมเสียง ส.ส.และ ส.ว.ให้ได้ 375 เสียง
ส.ว.สายบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร เช่น เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 พล.อ.นพดล อินทปัญญา พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องพล.อ.ประวิตร
ส.ว.สายบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พล.อ.จิระศักดิ์ ชมประสพ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องพล.อ.ประยุทธ์
เงื่อนไขของพี่-น้อง 2 ปี และ ส.ว.250 คน ต้องแก้ถึง 2 ปมซ้อน ๆ กันอยู่ ปม-เงื่อนไขแรก พล.อ.ประยุทธ์ เหลือโควตา-วาระการดำรงตำแหน่งแค่ 2 ปี
เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

ดังนั้นหากหลังการเลือกตั้งพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนราษฎรต่อจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงปี 2568 และ ส.ว.250 คนจะครบวาระ 5 ปีในปี 2567

ขณะที่พล.อ.ประวิตร ไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ติดเรื่อง “ใจบันดาลแรง” หลังเลือกตั้งอายุจะเข้าปีที่ 78 ปีแล้ว หากยอม (อีกครั้ง) ให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน 2 ปี จะทำให้พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุถึง 80 ปี
หรือจะใช้สูตร นายกฯคนละครึ่ง ให้พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน 2 ปี