10 กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “วัฒนธรรมอีสานใต้”

ประเทศไทยของเรามีเสน่ห์มากมายที่หลายประเทศต้องอิจฉา เพราะนอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติตั้งแต่ป่า เขา ต้นไม้ น้ำตก ลำธาร เรื่อยไปจนถึงชายทะเลแล้ว เรายังมีวัฒนธรรมที่หลากหลายผสมผสานเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตที่ไม่มีที่ไหนเหมือน และทั้งหมดเป็นหนึ่งใน Soft Power สร้างแรงดึงดูดให้คนเดินทางไปเยือน
แน่นอนว่ารากเหง้าคือสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทยเองแต่ละภูมิภาคก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ล้วนแล้วแต่ถูกถ่ายทอดและสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างในพื้นที่ “อีสานใต้” ซึ่งมี 5 จังหวัดสำคัญประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีความโดดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือ หรือการละเล่นพื้นบ้าน จนกลายเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อันทรงคุณค่า และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีสานใต้ ก็ยังสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ
“มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) เริ่มเข้ามาสู่แวดวงการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ส่วนประเทศไทยเอง ก็ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 โดยกำหนเมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษาตามกฎหมายนี้ ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด นั่นคือ
ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ด้านศิลปะการแสดง ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ด้านความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และด้าน ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวในการร่วมทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีสานใต้ จากข้อมูลของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้รวบรวมตัวอย่างที่น่าสนใจของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ จำนวน 10 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมเพลงโคราช
อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เรียนรู้เพลงโคราช ณ วัดศาลาลอย สถานที่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี พร้อมกับแต่งกายย้อนยุคด้วยการโจงกระเบน จากนั้นหมอเพลงจะสอนการร้องเพลงโคราช เบื้องต้นจะเริ่มต้นด้วยการฝึกร้องโอ่ และทดลองร้องเนื้อร้องเป็นภาษาโคราช เมื่อเริ่มร้องเป็นแล้ว สามารถขึ้นเวทีร้องเพลงโคราช พร้อมการรำประกอบเพลง
สำหรับ “เพลงโคราช” มีเสน่ห์อย่างยิ่ง เป็นการร้องเพลงโต้ตอบที่พัฒนามาเป็นการแสดงพื้นบ้าน ในสมัยก่อนเพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก การแสดงมหรสพต่าง ๆ มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟังเพลงโคราชเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบการแสดง และความนิยมของคนโคราชเอง เนื้อหาของเพลงโคราชขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่อง นิทานชาดก และเคร่งครัดมากในเรื่องสอนศีลธรรม
ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ท้าวสุรนารีในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านชอบเพลงโคราชมาก จึงมีผู้หาเพลงโคราชไปเล่นแก้บน ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในตอนกลางคืนและกลางวันเป็นประจำ และยังมีอีกที่คือวัดศาลาลอย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมอเพลงโคราช ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ยังคงสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้
2. กิจกรรมรำโทนพันปี

บ้านมะค่า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทำความรู้จักกับการตีโทน การรำโทน และได้ชมปราสาทพนมวัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่บ้านมะค่า อำเภอเมืองนครราชสีมา โดย “รำโทน” เป็นการละเล่นพื้นบ้านทั่วไป เช่น ในภาคกลาง นิยมเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ ในยามว่างของค่ำคืนที่เสร็จจากการทำนาโดยเฉพาะคืนเดือนหงาย แต่ในแถบโคราชก็มีการรำโทนเช่นเดียวกันกับภาคกลาง เหตุที่เรียกชื่อว่ารำโทน เพราะเป็นการรำตามจังหวะเสียงโทน คือเสียง “ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น” หรือ “ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น” ซึ่งประกอบบทเพลงส่วนใหญ่เป็นบทเพลงร้องสั้นๆ
การร้องและการรำไม่เคร่งครัดในแบบแผนมากนัก คือเพียงแต่ยกมือกรายไปมา และรำได้ทุกเพศทุกวัย โดยผู้รำจะจับคู่ส่วนใหญ่เป็นคู่ชายหญิง ชายใดหมายตาหญิงใดก็จะไปโค้งให้ออกมารำ หากฝ่ายหญิงไม่ชอบชายที่มาโค้งก็จะบ่ายเบี่ยง การรำโทนของโคราชในสมัยก่อนเพียงเพื่อให้เกิดความสนุกสาน รำรอบๆ ครกตำข้าว หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม และการรำโทนดั้งเดิมใช้โทนตีให้จังหวะเพียงอย่างเดียว ไม่นิยมใช้ฉิ่ง กรับ ตีประกอบ มาในภายหลังบางท้องที่มีการใช้มโหรีประกอบ
3. กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่ออดีตนั้น หมู่บ้านด่านเกวียนเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล เป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า ด่านกระโทก และเคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างโคราช-เขมร จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้มีชื่อเรียกขานกันมาว่า “ด่านเกวียน” เมื่อก่อนชาวบ้านด่านเกวียนมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อมีชาวข่า (ชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมร) เข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ และได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะ และเผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน เมื่อชาวบ้านมาเห็นก็เกิดความสนใจ และฝึกฝนฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาจนเกิดความชำนาญ และยึดเป็นอาชีพในเวลาต่อมา

โดยเมื่อถึงหน้านาก็ทำนาหาอยู่หากินกับผืนป่าและแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ อย่างเรียบง่าย พอถึงหน้าแล้งก็ทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็เอาไว้ไปขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ขาดแคลนเท่านั้น และเมื่อในแต่ละปีจะมีกองคาราวานมาซื้อเครื่องปั้นดินเผาจากชาวบ้าน นำเอาไปขายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วิถีชีวิตชาวด่านเกวียนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยเอง ก็ปรับเปลี่ยนเมื่อเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาสามารถผลิตขายเป็นสินค้าสร้างรายได้
4. กิจกรรมผ้าภูอัคนี

บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สนุกกับการย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ การใช้ดินภูเขาไฟมาย้อมผ้า และเทคนิคในการทำให้สีติดทนนาน เดิมชุมชนบ้านเจริญสุขแห่งนี้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากดินมีแร่ธาตุดีจากภูเขาไฟเก่ามีประโยชน์ในการเพาะปลูก ต่อมาชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้า จึงได้พัฒนาเป็นอาชีพหัตถกรรมย้อมผ้าศูนย์สาธิตผ้าภูเขาไฟ ชุมชนบ้านเจริญสุขจึงเป็นศูนย์สาธิตที่จัดทำผ้าย้อมดินภูเขาไฟอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้นำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผ้าที่ย้อมได้ออกมามีสีสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์

นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การย้อมสีจากใบไม้ เปลือกไม้ ชนิดต่าง ๆ ทำให้ได้ผ้าที่มีสีสันจากธรรมชาติอย่างสวยงาม สามารถออกแบบการมัดย้อมผ้าด้วยตนเอง และได้รับผ้ามัดย้อมฝีมือตนเองกลับไปเป็นของที่ระลึก
5. กิจกรรมผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง

บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ นักท่องเที่ยวจะได้ทั้งเดินชมชุมชนบ้านสนวนนอก และเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงตัวไหม การสาวไหม การควบเส้นในการปั่นด้าย การทอผ้าไหม ตั้งแต่โบราณชาวบ้านรู้จักการเลี้ยงไหมและการทอผ้า จนพัฒนาเทคนิคต่างๆ เช่น การควบเส้น (การน้ำไหม 2 สีมาสาวรวมกันเป็นเส้นเดียว) ประกอบกับชุมชนบ้านสนวนนอกสมัยนั้นมีต้นสนวนขึ้นเยอะมาก มักเป็นที่อาศัยของกระรอก และด้วยนิสัยช่างสังเกตของคนโบราณ พบว่าลายของหางกระรอกนั้นคล้ายกับไหมที่ถูกควบเส้นแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ผ้าหางกระรอก

ลักษณะของ ผ้าหางกระรอก จะใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ การควบเส้น ตามความเชื่อในเรื่องของความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัว และสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันนี้เรียกว่า กะนีว หรือ ผ้าหางกระรอก ซึ่งวิธีการนี้มักเจอแต่ในแถบอีสานใต้ และนิยมใช้เพียงสีเขียวควบเหลือ หรือแดงควบเหลือง การประยุกต์
6. กิจกรรมนวดไทยคลายเส้น
บ้านโคกใหญ่-เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ รู้จักกับพืชสมุนไพรในสวนสมุนไพร พร้อมร่วมกิจกรรมการแช่มือแช่เท้าเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย การนวด และการลงมือทำลูกประคบ โดยร้านดังที่นี้ที่เปิดให้บริการนวดไทย คือ โอฬารนวดไทย หนึ่งเดียวในบุรีรัมย์ทีรักษารูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิม มีบริการนวดไทย สปาไทย และสอนนวดไทย ซึ่งได้รับการรองจากกระทรวงแรงงานเป็น แหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาไทยกับการดูแลสุขภาพ กระทรวงวัฒนธรรม ประสบการณ์มากกว่า 35 ปี
7. กิจกรรมวิถีคนเลี้ยงช้าง
บ้านขุนไชยทอง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เรียนรู้การเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้ตะขอ ทำกิจกรรมเลี้ยงช้างโดยการป้อนอาหารให้ช้าง พาช้างไปอาบน้ำ และถ่ายรูปกับช้าง โดยในอดีตบ้านขุนไชยทองเป็นหมู่บ้านที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ เดิมทีบรรพบุรุษได้มีการคล้องช้างมาไว้ใช้งาน จึงได้รับการสืบทอดเป็นมรดกช้างเลี้ยงของชุมชนจากปูุย่าตายาย จากคำบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตว่า ปูุย่าตายายได้อพยพมาจากดินแดนติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นชุมชนเขมรและเป็นชุมชนกูยเดิม

8. กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวกูย
บ้านอาลึ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ นักท่องเที่ยวเข้าไปในหมู่บ้านอาลึ จะเริ่มต้นด้วยการไหว้ศาลปู่ตา ทำการทำนายโดยใช้คางไก่ต้ม ชมการแสดงรำแกลมอ-แกลออ และลงมือทำสร้อยว่านเปราะหอมด้วยตนเอง ซึ่ง หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนพื้นบ้านชาวกูยพื้นเมือง ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอยู่มากมายซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดแก่นักท่องเที่ยวที่นิยมท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ได้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนพื้นบ้านโบราณที่ยังคงมีให้เห็น มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายจากพรรพบุรุษจวบจนปัจจุบันนับ 100 ปี
9. กิจกรรมศิลปะการแสดงกะโน้บติงตอง
บ้านโพธิ์กอง อำเภอเชื้อเพลิง จังหวัดสุรินทร์ ศึกษาความเป็นมาของการแสดงกะโน้บติงตอง ได้สวมใส่ชุดกะโน้บติงตอง และทำท่าเต้นเลียนแบบการกระโดดหรือการไหวตัวของตั๊กแตนตำข้าว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ภาษาเขมรถิ่นไทย และสามารถเขียนคำในภาษาเขมรถิ่นไทยลงบนแผ่นไม้ทำเป็นพวงกุญแจ และนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้
10. กิจกรรมศิลปะการแสดงกันตรึม
บ้านดงมัน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เรียนรู้ความเป็นมาของการแสดงกันตรึม ทดลองแต่งกายด้วยการโจงกระเบน และฝึกท่ารำแบบกันตรึม ซึ่งผู้สอนจะเชื่อมโยงเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วย เพราะท่ารำกันตรึมนับว่าเป็นท่าที่สามารถยืดเส้นยืดสายบำบัดอาการเจ็บป่วยจากความปวดเมื่อย และทำให้ร่างกายแข็งแรงได้
ทั้งหมดนี้นับเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งไม่มีเพียงแค่ฝั่งอีสานใต้เท่านั้น เพราะในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ให้ทุกคนเข้าไปสัมผัส เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน เติมเต็มประสบการณ์ในการเดินทางให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม