GSBStreet Foodดันไทยสู่“สตรีทฟู้ดโลก”
แบงก์ออมสิน กับภารกิจจัดแข่งขัน “GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน)” เพิ่มโอกาสสร้าง “อาหารริมทาง” ของชุมชนทั่วไทย กลายเป็น “สวรรค์ของสตรีทฟู้ดของโลก”
“สตรีท ฟู้ด” หรืออาหารริมทาง (ถนน) สิ่งที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก ให้กับกรุงเทพมหานครและประเทศไทย จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก
หลายปีติดต่อกันแล้ว ที่ “เมืองหลวงของไทย” ได้รับการยกย่องจากองค์กรระหว่างประเทศและสื่อระดับโลก ทั้ง สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) และสำนักข่าว CNN รวมถึงสื่อระดับโลกอื่นๆ ให้เป็น “สวรรค์ของสตรีทฟู้ดของโลก”
ตัวเลขที่ “ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลด้านการตลาดชั้นนำของยุโรปและของโลก ได้จัดทำเอาไว้ เกี่ยวกับมูลค่าตลาดอาหารริมทางในประเทศไทย เมื่อปี 2560 ว่า…มีประมาณ 228,000 ล้านบาท และยังประเมินอีกว่า ในปี 2562 นี้ จะมูลค่าเติบโต กระทั่ง แตะยอดรายได้ที่ 276,000 ล้านบาท พร้อมกับคาดการณ์ว่า ในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดอาหารริมทางในประเทศไทย จะมีมูลค่าถึง 340,000 ล้านบาท เลยทีเดียว สิ่งนี้ คือ โอกาสของคนไทยและประเทศไทย
แล้วก็มิใช่แค่กรุงเทพฯ หากแต่หลายเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ต่างก็พยายามสร้างสรรค์ความเป็น “สตรีท ฟู้ด” ในสไตล์ของตัวเอง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งคนต่างถิ่นและชาวต่างชาติ…ได้มาเยี่ยมเยือน หวังสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น และสร้างชื่อเสียงของจังหวัดตัวเอง
แต่การจะผลักดันให้ “สตรีท ฟู้ด” ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย เป็นที่รู้จักและยอมรับของนักท่องเที่ยว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะที่ เจ้าของพื้นที่และชาวชุมชนเอง ก็จะต้อง “รังสรรค์” อาหารริมถนนของตัวเอง ให้มี “อัตลักษณ์” ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเอง
ที่สำคัญ…อาหารนั้นๆ จะต้อง อร่อย แปลกใหม่ สด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย และราคาเหมาะสม
ล่าสุด เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ที่สุดของธนาคารเพื่อลูกค้าย่อย” ได้สานต่อโครงการส่งเสริมร้านอาหารริมทาง หลังจากที่เคยให้การส่งเสริมและสนับสนุนมาก่อนหน้านี้แล้ว โครงการที่ว่าเกิดขึ้นภายใต้ชื่อ…“GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน)”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ย้ำว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนายกระดับอาชีพต่างๆ รวมถึงการค้าขายริมทางเท้า หรือ สตรีทฟู้ด ที่มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนสาธารณสุข เข้ามาช่วยยกมาตรฐานทั้งความอร่อย ความสะอาด ถูกสุขอนามัย โดยที่ธนาคารออมสินได้เป็นแหล่งทุนสนับสนุนผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดมานานกว่า 16 ปี ผ่านโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กลุ่มผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด ผ่านโครงการ GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน) ด้วยการจัดประกวดร้านค้าริมทางเท้า เปิดโอกาสแสดงความคิดเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจร่วมแข่งขันภายใต้หัวข้อ “พัฒนาสตรีทฟู้ด 4 มิติ” หรือ “4 D Street Food Upgrade” โดยเปิดรับสมัครทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. และเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 15 เม.ย.นี้เอง
สำหรับหัวข้อ“พัฒนาสตรีทฟู้ด 4 มิติ” หรือ “4 D Street Food Upgrade” ที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินแพ้ชนะนั้น ประกอบด้วย…
1.D Food ด้านอาหาร ที่นอกเหนือจากส่วนผสม วัตถุดิบ ที่นำมาปรุงให้มีรสชาติที่ดีเลิศ รวมถึงกระบวนการปรุงที่ดีด้วยแล้ว จะต้องปรับปรุงอาหารให้มีมิติใหม่
2.D Innovation ด้านนวัตกรรม นำนวัตกรรมดีๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงอาหารให้น่าสนใจ
3.D Design การออกแบบ การใช้ความคิดสร้างสรรค์อาหาร
และ 4. D Marketing ด้านการตลาด ต้อมมีมุมมองด้านการตลาดใหม่ๆ ซึ่งการแข่งขันนี้จะมีการนำเสนอภาพการแข่งขันในรายการเรียลลิตี้สตรีทฟู้ด ซึ่งถือเป็นรายการเรียลลิตี้สตรีทฟู้ดรายการแรกของไทย ผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง True4U 24 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.30-13.30 น.
โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และประกอบอาชีพค้าขายอาหารสตรีทฟู้ดเป็นอาชีพหลัก ทั้งอาหารหรือเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภค โดยจำหน่ายริมทางเท้า หรือที่สาธารณะ ทั้งร้านตึกแถว ซุ้มขายอาหาร รถเข็นอาหาร หาบเร่ รถเร่ หรือรถบรรทุกอาหาร โดยมีเงินรางวัลรวมกว่า 2 ล้านบาท
“มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตรีทฟู้ด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ ธนาคารออมสิน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจนี้ โดยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดมาแล้วทั่วประเทศ และครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลักที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันอาหาร และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA” นายชาติชาย ระบุ
ถึงตรงนี้ ก็ต้องยกนิ้วเชียร์ให้โครงการ GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน) ของธนาคารออมสิน ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของ…จำนวนผู้เข้าแข่งขัน จำนวนผู้ชม/ผู้ติดตา และจำนวน “สุดยอดอาหารอร่อย” ที่หลากหลาย และแปลกใหม่ กระทั่ง สร้างชื่อ “สตรีท ฟู้ด” ของไทย ในทุกถนน…ทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก
เป้าหมายเพื่อคงความเป็น “สวรรค์ของสตรีทฟู้ดของโลก” ให้อยู่กับเมืองไทยนานๆ.