Cultured meat กับการปฏิวัติวิถีการผลิตเนื้อ

อีไอซี ประเมินว่า เทคโนโลยีการเลี้ยงเนื้อในห้องแล็บหรือ Cultured meat จะแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน
Cultured meat จะแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันเพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในระยะสั้นจะมีการบริโภคเพียงเฉพาะกลุ่ม แต่ในระยะยาวอาจมีการบริโภคมากขึ้นหากมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าเนื้อทั่วไป และราคาลดลงมากพอที่จะแข่งขันกับเนื้อทั่วไปได้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มเป็นที่พูดถึงคือการเลี้ยงเนื้อในห้องแล็บหรือ Cultured Meat
โดยเริ่มจากการนำสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงในถังหมัก (bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยน้ำเลี้ยง (culture medium) ที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสเต็มเซลล์ ทำให้เนื้อแต่ละชนิดต้องการการเลี้ยงในสภาพที่แตกต่างกัน ขณะนี้มีสตาร์ทอัพในต่างประเทศกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงเนื้อสัตว์ที่ต่างกันไป โดย Cultured meat สามารถผลิตได้เพียงเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อปลาทูน่า และทำได้เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อเท่านั้น
ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ต้นทุนการผลิต Cultured meat ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2013 มีการนำเสนอ Cultured beef burger ผ่านทางโทรทัศน์ครั้งแรกในสหราชอาณาจักร โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นต้นทุนอยู่ที่ 478,993 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม หลังจากนั้นมีจำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันมีสตาร์ทอัพกว่า 30 รายทั่วโลกโดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และอิสราเอล ส่งผลให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนการผลิต Cultured beef ของบริษัท Mosa Meat ที่ลดลงเป็น 95,798 และ 8,164 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ และคาดว่าจะลดลงเหลือ 14.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในปี 2020 และบริษัทอื่นๆ ก็มีทิศทางเดียวกัน
โดยในช่วงดังกล่าวยังไม่สามารถทำเป็นชิ้นเนื้อได้ ทำได้เพียงเนื้อบด ต้องนำมาแปรรูปเป็นเนื้อใส่เบอร์เกอร์ นักเก็ต ไส้กรอก และอื่นๆ เพื่อประกอบอาหาร แต่ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2018 บริษัท Aleph Farms ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอลสามารถผลิตสเต๊กเนื้อวัวได้เป็นครั้งแรก ในต้นทุนที่ลดลงเหลือ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น จะเห็นว่าต้นทุนการผลิต Cultured meat ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทใดสามารถผลิตและขายในเชิงพาณิชย์ได้เนื่องจากต้นทุนที่ยังสูงกว่าเนื้อธรรมดา และยังไม่มีกฎหมายรองรับ