คปภ.ดึงหอการค้าฯโคราชร่วมเครือข่ายประกันภัย

คปภ.นำร่องเซ็น MOU “หอการค้าฯนครราชสีมา” สร้างเครือข่ายประกันภัยก่อนปูพรมทั่วไทย เผยรุกหนักไม่เฉพาะกลุ่มเกษตกรหรือธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ตั้งเป้าดึงนักธุรกิจทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” เข้าร่วมวง หวังเติมความแข็งแกร่งให้วงการประกันภัยไทย เผยโครงการรับจำนำข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงปีนี้ มีความแตกต่าง 3 ประการ
ถือเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านประกันภัย ว่าด้วย “การรับจำนำข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” แก่เกษตรกร อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ช่วงวันที่ 3-4 เม.ย.ที่ผ่านมา
“ไฮไลต์” อยู่ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ รองประธานกรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ เป็นผู้แทนในการลงนาม และมี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รอง ผจว.นครราชสีมาและนายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานกรรมการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจการค้าสตาร์ทอัพและกิจการพิเศษ ร่วมเป็นสักขีพยาน สำหรับกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ประเด็นการรับทำประกันภัยสินค้าเกษตรมีมานานแล้ว และก็เป็นอีกครั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.62 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

ถือว่า…เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ใหม่และน่าจะเป็นความสำเร็จ รวมถึงเป็นอนาคตที่ดีของทุกฝ่าย คือ การ “นำร่อง” ดึงเอาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาร่วมเป็นเครือข่ายสร้างความเข็มแข็งให้กับโครงการฯ ก่อนจะเดินสายขยายผลไปยังหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า…เฉพาะเพียงหน่วยงานรัฐ อย่าง…กระทรวงการคลังและหน่วยงานในสังกัด เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงกระทรวงมหาดไทย (ฝ่ายปกครอง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชน อาทิ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยนั้น
แค่นี้…ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้โครงการประกันภัยสินค้าเกษตร มีความเข็มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าจังหวัดต่างๆ ด้วย!!! และต้องไม่ลืมว่า…ภารกิจของ คปภ. อยู่ที่การส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกิจประกันภัยและการทำประกันภัยของทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะแค่การรับประกันสินค้าเกษตรเท่านั้น แน่นอนว่า…ภาคธุรกิจ มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เช่น การรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร รวมถึงธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเลย แต่มีความจำเป็นจะต้องได้ระบบการประกันภัยมาเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในธุรกิจของพวกเขา
นั่นเอง จึงเป็นที่มาทำให้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. พยายามที่จะสร้างเครือข่ายหอการค้าจังหวัดต่างๆ เพื่อภารกิจเบื้องหน้า และเขาก็ทำสำเร็จ กระทั่ง สิ่งนี้…จะกลายเป็นอนาคตใหม่ในการทำงาน คปภ.จากนี้ไป
“หากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความต้องการที่จะให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านต่างๆ ทางสำนักงาน คปภ.ก็ยินดีจะร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือและทำให้การประกับธุรกิจของพี่น้องในจังหวัดนครราชสีมา เกิดความอุ่นใจ และมีหลักประกันที่ชัดเจน หากเกิดภัยพิบัติหรือความเสียหายใดๆ ตามมา” ดร.สุทธิพล ระบุ
ข้อมูลที่ AEC10NEWS สืบทราบมา ก็คือ การดึงเอาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดต่างๆ มาเป็นเครือข่ายประกันภัย โดยเริ่มนำร่องกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมานั้น ที่จริงแล้ว คปภ.มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และกว้างไกลกว่าการทำประกันภัยสินค้าเกษตร เฉพาะแค่…ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การรับซื้อสินค้าเกษตรของภาคธุรกิจในส่วนภูมิภาค
นั่นเพราะ คปภ.หวังไกลถึงขั้นดึงเอากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย มาร่วมอยู่ในเครือข่ายประกันภัยให้มากยิ่งๆ ขึ้น ไม่คงมิใช่แค่…สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดต่างๆ เท่านั้น หากยังรวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ รวมถึงสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” (ธพว.หรือ SME D Bank)

“ตอนนี้ สำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการเจรจากับเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ส่วน SME D Bank ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมสังกัดกระทรวงการคลังด้วยกันนั้น หลังจากที่ได้ทีมผู้บริหารชุดใหม่แล้ว ก็คงมีการเจรจาเพื่อหารือกันในเรื่องนี้ เชื่อว่าหากสามารถดึงเอากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาร่วมเครือข่ายประกันภัยได้แล้ว ไม่เพียงจะสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจในอนาคตเท่านั้น หากยังทำให้ธุรกิจการรับประกันภัยของไทย เติบโตอย่างเข้มแข็งและก้าวกระโดด กลายเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” ผู้บริหาร คปภ.รายหนึ่ง กล่าวกับ AEC10NEWS
สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปีฯ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ ในปีนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยฯ ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย และได้ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรฯ เพื่อให้มีเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการ “Training for the Trainers” แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา 3.13 ล้านไร่ และมีการทำประกันภัย 1.44 ล้านไร่ ติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงที่สุดของประเทศ อีกทั้ง ยังติดอันดับ 1 ใน 3 ที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงที่สุดของประเทศอีกด้วย
ด้านเลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า โครงการปีนี้ มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากโครงการปีก่อนๆ สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้ รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่ 2 มีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด และประการที่ 3 มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ (ซึ่งเบี้ยประกันภัยลดลงจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่)
“ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่บริหารความเสี่ยงด้วยการนำประกันภัยข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562) และเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Mobile Application ชื่อ “กูรูประกันภัย” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในมิติต่างๆ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โหลดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วยระบบประกันภัย และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวสรุป.