SCBวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อที่ 1.24%
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 2019 เร่งตัวมาอยู่ที่ 1.24% ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน
อีไอซีปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2019 มาอยู่ที่ 0.9% YOY จากคาดการณ์เดิมที่ 1.0%YOY เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกออกมาชะลอมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ประมาณ 0.6% โดยอีไอซีประเมินว่า ราคาพลังงานจะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันในปี 2019 จะมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 7% (คาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์เฉลี่ยปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปี 2018 ที่มีค่าอยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) อย่างไรก็ดี ในส่วนของราคาอาหารสด คาดว่าจะมีทิศทางเร่งขึ้นจากปีก่อนจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจากปัจจัยภัยแล้งเป็นสำคัญ ทั้งนี้จากข้อมูลรายงาน “การเฝ้าระวังปรากฎการณ์เอลนีโญ ลานีญา” ของกรมอุตุนิยมวิทยา[1]เมื่อเดือนมีนาคม พบว่าในช่วงเวลาปัจจุบัน ประเทศไทยมีสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน (แล้งไม่มาก) โดยกรมอุตนิยมวิทยาคาดว่าไทยจะมีสภาวะดังกล่าวไปจนถึงเดือนเมษายน และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง จึงทำให้คาดว่าการที่ราคาอาหารสดปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับปกติจะเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น คาดว่าจะมีระดับทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 0.8% โดยคาดว่าค่าแรงซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะมีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงมี slack ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ขณะที่แนวโน้มการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของหลายพรรคการเมืองนั้น หากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะต้องมีระยะเวลาผ่อนปรนก่อนการบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว ซึ่งอาจทำให้ค่าแรงยังไม่สามารถปรับเพิ่มได้ทันที จึงทำให้คาดว่านโยบายดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบน้อยในปีนี้ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2019 ที่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จะเป็นการลดโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี โดยอีไอซีประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1% ก็จะเป็นข้อจำกัดสำคัญของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในระยะต่อไป ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่า กนง. จะดำเนินนโยบายการเงินโดยพิจารณาพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจเป็นสำคัญ (data dependent) และหากมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป.