ผ่าแผนกระตุ้นข้าราชการเที่ยว ตลาดใหญ่ ปั๊มรายได้ฟื้นเศรษฐกิจ

กลายเป็นประเด็นดรามาเล็ก ๆ หลังไม่กี่วันมานี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาบอกว่าเตรียมดันโครงการท่องเที่ยวใหม่ “รัฐทัวร์ทั่วไทย” ดึงข้าราชการทำงานนอกสถานที่เหมือนกับการไปเที่ยวในตัว 2 วันโดยไม่คิดเป็นวันลา เขย่าอารมณ์ชาวเน็ตกันจนโซเชียลสะเทือน
ที่มาที่ไปของโครงการนี้มองโดย “ไร้ความอคติ” ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และจำเป็นต้องหาเครื่องมือเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปใช้จ่ายกระจายรายได้ลงไปในพื้นที่ แต่การจะดันออกไปหากจังหวะไม่เหมาะ ก็กลายเป็นดาบสองคมทิ่มทะลุกลางอกของรัฐบาลเหมือนกัน

สำหรับโครงการ “รัฐทัวร์ทั่วไทย” นั้นต้นเรื่องที่เสนอโครงการขึ้นมา คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดเสนอเข้าไปในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. ซึ่งมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน เห็นชอบการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว ผ่านการส่งเสริมการเดินทางของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งมีความอย่างยิ่งที่ต้องกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการมองหาตลาดด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ก็เป้นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ และพนักงานของรัฐ ที่มีรายได้ เงินเดือนประจำทุกเดือน และนับว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายซีซั่นมานี้น้อยกว่าคนทำอาชีพอื่นที่สุด
“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อธิบายเหตุผลให้ฟังว่า ไม่อยากให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของโครงการนี้ เพราะถือเป็นหนึ่งโครงการที่ ททท. ในฐานะของหน่วยงานสำคัญสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย พยายามหาตลาดใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งกลุ่มข้าราชการเป็นกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีอัตรากำลังพลมากถึง 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็มีกำลังซื้อ และนิยมการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ทุกปีอยู่แล้ว
โครงการนี้มีสาระสำคัญ นั่นคือ การส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้เป็นระยะเวลา 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565 ในลักษณะเดียวกับแนวทางการส่งเสริม Workation หรือการทำงานในขณะท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ในภาคเอกชน หรือมีลักษณะเดียวกับ Work From Anywhere คือการปฏิบัติงานจากที่ไหนก็ได้
ทั้งนี้เพราะในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมานั้นหน่วยงานราชการได้กำหนดมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติให้ปฏิบัติงานจากบ้านพัก (Work from Home) จนเป็นที่ประจักษ์ว่า ผลการดำเนินงานต่าง ๆ ล้วนสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงผลักดันโครงการนี้ออกมา เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยไปยังเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่นเมืองรอง แต่ในรูปแบบ วิธีการ หรือนโยบายการเดินทางลงไปในจังหวัดต่าง ๆ ก็ขอให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือแนวทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานที่จะกำหนดให้เหมาะสมต่อไป
ตัวอย่างเช่น ไปเที่ยวที่ตอบกระแสการท่องเที่ยวชุมชน เทศกาลประจำภาค ส่งเสริมวัฒนธรรม วิถีชีวิต ธรรมชาติ การมีโอกาสได้พบปะประชาชน เพื่อรับฟังสภาพความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ปัญหารวมไปถึงข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ เพื่อมาใช้เป็นแนวคิดด้านการพัฒนาและจัดการการท่องเที่ยว และมิติที่เกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานในอนาคต เรียกว่า การออกเดินทางไปทำงานนอกสถานที่ครั้งนี้ กำลังพลภาครัฐนอกจากจะได้งานแล้ว ยังช่วยภาคธุรกิจในห่วงโซ่ท่องเที่ยวกลับมามีรายอีกด้วย
ทั้งนี้จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ มีรายละเอียดคือ การกำหนดเงื่อนไขของโครงการรัฐทัวร์ทั่วไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะสนับสนุนกลุ่มผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีประมาณ 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยว หรือปฏิบัติงานราชการนอกสถานที่ในจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ตามภูมิลำเนาของตัวเองโดยลาเดินทางไปท่องเที่ยวหรือปฏิบัติงานราชการนอกสถานที่ได้ 2 วัน ภายในกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565 โดยสามารถเลือกเดินทางไปในวันธรรมดาวันใดก็ได้ เช่น

ข้าราชการอาจเดินทางไปในวันศุกร์ และจันทร์ ก็ทำให้หยุดยาว 4 วัน หรือหยุดติดต่อกันในวันพฤหัส-ศุกร์ เช่นเดียวกับวันจันทร์-อังคารได้ ซึ่งจะทำให้หยุดยาว 4 เช่นกัน หรือใครจะเลือกหยุดเพียงแค่วันเดียวก่อนก็ได้ แล้ววันที่เหลืออีกวันค่อยลาอีกครั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด และเป้นไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม ไม่กระทบต่อภาระงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุเพิ่มเติมถึงโครงการนี้ว่า น่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว ผ่านการส่งเสริมการเดินทางของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการเดินทางไปทำงานนอกสถานที่นั้น ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเดินทางไปในเมืองรองเท่านั้น แต่สามารถเดินทางไปเมืองท่องเที่ยวไหนก็ได้
โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมติของ ท.ท.ช. นี้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว ตามขั้นตอนต่อไป โดยหวังว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะผ่านการเห็นชอบ เพื่อให้เปิดได้เร็วที่สุดตามแผน คือเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตามนอกจากโครงการรัฐทัวร์ทั่วไทยแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกัน และน่าจะช่วยการันตีเรื่องการเดินทางไปทำงานของข้าราชการนอกสถานที่ ทำได้อย่างสบายใจไร้ข้อกังวลมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ประชุมครม. ไฟ้ผ่านร่างระเบียบสำคัญ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ เพื่อมาสนับสนุนเรื่องนี้ นั่นคือ
“ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ”
ความสำคัญของร่างระเบียบนี้ กำหนดรายละเอียดไว้คือ ให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการนอกที่ตั้งของส่วนราชการ หรือในพื้นที่ที่ส่วนราชการจัดไว้เป็นที่ทำงานร่วม (Co-Working Space) หรือที่พักของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หรือสถานที่อื่นใดที่ส่วนราชการกำหนด โดยไม่รวมถึงการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปราชการ และการจัดการประชุมของส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการ และการจัดการประชุมของทางราชการ

แนวทางการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ ตามระเบียบกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการอาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการหรือกลับมาปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้งของส่วนราชการได้ตามที่เห็นสมควร โดยมอบหมายงานที่สามารถปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ กำหนดรูปแบบ จำนวนวันในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ รวมถึงวิธีสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติราชการ ณ ที่ตั้งของส่วนราชการ
พร้อมทั้งกำหนดให้ส่วนราชการกำหนดวิธีบริหารจัดการและกำกับติดตามงานในช่วงเวลาที่มอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ โดยคำนึงถึงลักษณะงานและภารกิจของส่วนราชการ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการมีหน้าที่ที่ต้องพร้อมให้ผู้บังคับบัญชาสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง
แต่อย่างไรก็ดีเพื่อความรอบคอบยังกำหนดการควบคุมเวลาในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยให้การลาของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในระหว่างช่วงระยะเวลาที่ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการแต่ละประเภท และให้ส่วนราชการจัดทำบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ หรือจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการยืนยันตัวตนเพื่อใช้ลงเวลาการปฏิบัติราชการก็ได้
ปัจจุบันร่างระเบียบนี้ เมื่อผ่านการเห็นชอบจากครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไป จะส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปก่อนจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีกไม่นานจากนี้

ดังนั้นเมื่อทั้งระเบียบใหม่ที่ออกมาคลายข้อจำกัดตรงนี้ เช่นเดียวกับมีโครงการส่งเสริมการเดินทางในลักษณะนี้ออกมากระตุ้นการท่องเที่ยว ก็น่าจับตาไม่น้อยว่า ตลาดกลุ่มข้าราชการ น่าจะเป็นแรงส่งหนึ่งที่ช่วยประคับประคองการท่องเที่ยวของไทยไปได้อย่างน้อยก็ช่วงที่เหลือของปีนี้ ก่อนจะมาว่ากันใหม่ในปีหน้าอีกที