ส่องโอกาสเติบโต “กัญชาไทย” ทะยานแตะ 2 หมื่นล้านในปี 2567

วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ว่าประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกฎหมายให้กัญชา และกัญชง พ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (ยส.5) อย่างเป็นทางการส่งผลให้ประชาชนสามารถที่จะสูบกัญชา หรือปลูกกัญชาที่บ้าน ขายส่วนของพืชกัญชาในเชิงพาณิชย์ โดยจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน หรือจดแจ้งกับสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด

นอกจากนั้นประชาชนทั่วไปสามารถที่จะใช้กัญชงและกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปลดล็อกพืชชนิดนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนและประเทศชาติเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมให้กัญชงและกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต
“อนุทิน” ดัน พ.ร.บ.กัญชาฯผ่านสภาในรัฐบาลนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทยในฐานะผู้ที่มีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีระบุว่าหลังจากที่มีการปลดล็อกกัญชง กัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ขั้นต่อไปพรรคภูมิใจไทยก็จะเดินหน้าในการผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
โดยล่าสุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงคะแนนรับหลักการร่างกฎหมายอย่างท่วมท้นด้วยคะแนน 373 เสียง แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาเห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชง เพียงแต่ต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสมป้องกันผลกระทบต่อสังคม โดยรัฐบาลพร้อมจะดำเนินการทุกด้านอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดการใช้กัญชาและกัญชงในทางเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป
ทั้งนี้แนวคิดเรื่องการส่งเสริมให้กัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่เป็นจุดขายของพรรคภูมิใจไทยที่หาเสียงมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อนโดยเป็นนโยบายที่หาเสียงมาคู่กับเรื่องนโยบายกัญชาเสรีที่ให้ประชาชนปลูกได้ตามบ้านเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันหรือขายได้เหมือนพืชอื่นๆโดยเสรี ก่อนที่จะมาสำเร็จในปีสุดท้ายของรัฐบาลปัจจุบัน
โดยในวันแรกของการปลดล็อกกัญชาพ้นบัญชียาเสพติดมีคนเข้าแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” เพื่อลงทะเบียนการปลูกกัญชาทั้งการใช้ในครัวเรือน การใช้ทางการแพทย์ และการจำหน่ายมากถึงเกือบ 9 ล้านครั้ง และมีการลงทะเบียนสำเร็จแล้วกว่า 1.5 แสนราย ถือว่าเป็นกระแสการตอบรับของประชาชนที่มีต่อพืชกัญชาอย่างกว้างขวาง
ตลาดกัญชาไทยทะยานแตะ 2.1 หมื่นล้านปี 67
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยรายงานของ The Global Cannabis Report ที่จัดทำโดย Prohibition Partners ที่ทำการศึกษาตลาดกัญชาทั่วโลกและมีการคาดการณ์การเติบโตของตลาดกัญชาไปจนถึงปี 2567 พบว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีมูลค่าเกินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.3 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ประมาณ 60% และอีก 40% เป็นการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ
ส่วนในประเทศไทยมูลค่าทางการตลาดของกัญชามีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 จะมีขนาดตลาดประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกัญชาทางการแพทย์ 7,000 ล้านบาท และตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ ความเพลิดเพลินและผลิตภัณฑ์อื่นๆประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุที่ตลาดกัญชาที่ไม่ใช่การแพทย์ของไทยจะเติบโตสูงกว่าตลาดทางการแพทย์ในช่วงแรกเนื่องจากเทคโนโลยีการแปรรูปและสกัดกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในไทยต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะเนื่องจากอยู่ในช่วงแรกของการปลดล็อกให้ใช้ได้โดยลดข้อจำกัดลง เมื่อมีการลงทุนในเทคโนโลยีเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์สัดส่วนมูลค่ากัญชาทางการแพทย์ในไทยจะเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆไป
งานวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังบอกด้วยว่าปัจจุบัน ตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และแม้ว่าจะมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
กัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยมูลค่าเกิน 6 พันล้าน/ปี

แต่หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังมีขนาดที่เล็กมากหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04%ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งนี้หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งมีสัดส่วนราว 60-80% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยในระยะกลางถึงยาวอาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ ขึ้นอยู่กับผลตอบรับที่ได้จากการรักษาคนไข้ กล่าวคือ หากผลการใช้กัญชาช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น ก็น่าจะทำให้มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากผลการใช้กัญชาไม่ได้ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือแตกต่างไปจากเดิม มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีชื่อเสียงในเรื่องของกฎหมายที่คุมเข้มเรื่องกัญชามากที่สุดในโลก แต่กฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้เปิดทางให้ตลาดกัญชามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเปิดรับทางกฎหมายเกี่ยวกับตลาดกัญชานี้จะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกต้นกัญชง หรืออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศที่ต้องการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของกัญชา เช่น น้ำมัน คุกกี้ กัญชาผสมอาหาร และอื่นๆ ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน
ตลาดกัญชาโอกาสเติบโตบนความท้าทาย

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายประเด็นทั้งในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ และเชิงสังคมที่นับเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผ่านกฎระเบียบ/ข้อตกลงต่างๆ ที่เข้มงวดและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ที่จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคา ความสามารถในการแข่งขันกับกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ในกรณีที่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้ในอนาคต)
กลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิบัตรกัญชา ความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการรักษา ความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับกลุ่มคนไข้ที่วิเคราะห์ลงไปถึงระดับรายบุคคลที่นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด
หมายความว่าเมื่อมีการปลดล็อคให้มีการลงทุนปลูกกัญชาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว ภาครัฐคงต้องตอบประเด็นเหล่านี้ว่าท้ายที่สุดแล้วในมิติของประเทศนั้นเราจะได้ผลดีจากการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
ปลูกกัญชงยังเสี่ยงขาดทุนในระยะสั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรยังระบุในงานวิจัยด้วยว่าสำหรับกัญชงนั้นจากการติดตามมูลค่าของพืชชนิดนี้ในปี 2564 พบว่ารายได้กัญชงจากการปลูกแบบระบบเปิด (Outdoor) อาจจะอยู่ที่ราว 0.2-1.0 ล้านบาทต่อไร่ เนื่องจากราคารับซื้อที่สูงเพราะผลผลิตที่ยังมีจำกัด ขณะที่ต้นทุนการปลูกอาจต้องใช้เงินลงทุนถึง 0.3-1.5 ล้านบาทต่อไร่ ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี
สำหรับในระยะถัดไปรายได้ผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจให้ภาพที่ทยอยปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะกดดันราคา รวมทั้งความท้าทายจากการแข่งขันโดยเฉพาะกับวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศเมื่อมีการเปิดให้นำเข้าได้ในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนปลูกกัญชงจึงควรคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ให้รอบคอบ รวมทั้งดูทิศทางของตลาดในระยะยาวด้วย

ตั้งอนุกรรมการคุมเข้มระยะแรกเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
เพื่อให้การกำกับดูแลผลกระทบในด้านต่างๆ หลังจากมีการปลดล็อกกัญชง กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในวงกว้าง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ครั้งที่ 1/2565 ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการประกาศให้พืชทั้งสองชนิดพ้นบัญชียาเสพติดในทันที
โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงข้อกังวลต่อกรณีที่อาจมีการใช้กัญชาและกัญชงในทางที่ไม่เหมาะสม และยืนยันในแนวนโยบายที่รัฐบาลไม่สนับสนุนการใช้กัญชาในทางมอมเมาหรือเพื่อสันทนาการ อย่างไรก็ตาม รมว.สาธารณสุขยืนยันว่าคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาฯ จะเข้ามาดูแลกำหนดแนวทางต่างๆไปจนกว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะมีผลบังคับเป็นทางการ
แต่เชื่อว่าระหว่างนี้จะไม่มีปัญหาเนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการในด้านต่างๆ มาโดยต่อเนื่อง และสาธารณสุขก็มีกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้บังคับเพื่อไม่ให้มีการใช้กัญชากัญชงในทางที่ไม่เหมาะสมได้
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการในด้านต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และการบำบัดรักษา มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
2.คณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคมมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน
3.คณะอนุกรรมการด้านการผลิตทางเกษตรกรรม มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
4.คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน
5.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน
และ 6.คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน
ยันรัฐบาลปลดล็อกกัญชา–กัญชง ตามขั้นตอน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการดำเนินการปลดล็อกกัญชงและกัญชาของรัฐบาลมีการดำเนินการมาตามขั้นตอนตั้งแต่ในปี 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียตะวันออกที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่กำหนดจะสามารถใช้กัญชา (ที่มีความเข้มข้นของสาร THC มากกว่า 0.2%) ได้โดยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์และซื้อจากสถานบริการจากทางรัฐเท่านั้น ต่อมาในปี 2563 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดเพื่อเปิดรับสาร CBD และกัญชาในประเทศ การแก้กฎหมายครั้งนี้ระบุไว้ว่า สารสกัดกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่ถือเป็นสารเสพติดอีกต่อไป
ในปี 2564 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติด้านอาหาร เพื่ออนุญาตให้ใช้กัญชาและกัญชงเป็นส่วนผสมในอาหารได้ อย่างไรก็ตามกฎ 0.2% ยังคงอยู่ ซึ่งแปลว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของสาร THC ในระดับที่ต่ำ จะสามารถขายในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
และนับแต่รัฐบาลได้เริ่มมีนโยบายผลักดันการใช้ประโยชน์จากกัญชา ด้านการแพทย์มีการกระจายยากัญชาไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ และมีการจ่ายยากัญชาไปแล้ว1,437,443 หน่วย มีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาไปแล้วมากกว่า 109,008 ราย มียากัญชาในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งสิ้น 8 ตำรับ ส่วนประโยชน์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้มีการให้อนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา ที่มีการนำกัญชาและกัญชงไปเป็นส่วนประกอบทั้งหมด 1,181 รายการ