เปิดประวัติ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จาก รมต.โลกลืม สู่ผู้ว่าที่ฟีเวอร์สุดปฐพี
การถือถุงแกง ไปใส่บาตรพระที่ จ.สุรินทร์ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักชัชชาติ และนั่นทำให้รู้ว่าการสื่อสารมีความสำคัญมาก “ชัชชาติ” จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
ต้องยอมรับว่าเวลานี้ ไม่มีใครฮ็อตเท่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ด้วยคะแนน 1.38 ล้านคะแนน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ความจริงแล้ว “ชัชชาติ” ผู้โด่งดังในเวลานี้ เพิ่งก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้วเอง
สำหรับ “ชัชชาติ” เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชน กระทั่งปีในปี 2538 ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน
โดยระหว่างนั้น เขาเคยได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร โดยที่ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ ในคณะรัฐมนตรี
จนเมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 นายกรัฐมนตรีหญิงถูกปรามาสเป็นหุ่นเชิดของพี่ชาย นายทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงเล็งหาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล
ในเวลานั้น “ชัชชาติ” ยังได้เข้ามาช่วยงานในกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง
จนกระทั่ง ปี 2555 เขาได้รับการทาบทามทางโทรศัพท์ จากนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ชัชชาติ เคยเล่าว่า แม้ทางมารดาจะไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ตกลงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือน ม.ค. 2555
สำหรับการรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกของ “ชัชชาติ” ไม่ถือว่าโดดเด่นนัก เขากลายเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุด หรือที่สื่อมวลชนมักเรียกว่า “รัฐมนตรีโลกลืม”
แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา เขาก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเดือน ต.ค. 2555 ทำให้บทบาทของชัชชาติชัดเจนขึ้น และมีความโดดเด่นมากขึ้น
เขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลเสนอร่าง ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน’ หรือพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ หรือรถไฟทางคู่ โดยกำหนดกรอบเวลาจากปี 2556 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563
เขาว่า “ตั้งแต่เราเปลี่ยนจากกรมรถไฟหลวงที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทุกอย่างที่เขาลงทุนคือหนี้ ไม่เหมือนกรมทางหลวงที่เป็นสมบัติประเทศ แต่การรถไฟทุกบาทที่ลงทุนคือหนี้ของรถไฟ หัวรถจักรอายุเด็กสุด 15 ปี แก่สุด 50 ปี มี 206 หัว ใช้ได้ 80% สภาพเขาเก่า ทรุดโทรมมากไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพของพนักงานรถไฟ แต่เป็นเรืองยุทธศาสตร์นโยบายประเทศที่เราให้ถนนเยอะขึ้นทุกปี”
แต่แล้วศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นหนึ่งในคณะตุลาการที่ตัดสินว่าร่างพระราชบัญญัติเงินกู้มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวในขณะนั้นว่า รถไฟความเร็วสูงยังไม่เหมาะกับประเทศไทย ควรให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศก่อน นอกจากนี้ นายสุพจน์ ยังกล่าวว่า เงิน 2 ล้านล้าน ทั้งชาตินี้นายชัชชาติและลูกของนายชัชชาติ ยังไม่สามารถใช้ได้หมดเลย และตนก็ยังไม่รู้ด้วยว่าลูกจะอยากใช้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี อาทิ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง, การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง, การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด , ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา
เพียง 1 ปี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ “นายชัชชาติ” กลายเป็นรัฐมนตรีระดับหัวกะทิ หลังเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ เขาเป็นที่จดจำในฐานะรัฐมนตรีติดดิน เรียบง่าย โดยผู้คนมักพบรัฐมนตรีชัชชาติ ตามที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายรถเมล์ บนรถไฟ รถไฟฟ้า รวมถึงการใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง
“ชัชชาติ” ได้รับฉายา รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากการปรากฎภาพเมื่อครั้งมีการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สุรินทร์ โดย “นายชัชชาติ” ถือถุงแกงเพื่อไปใส่บาตรหลังวิ่งออกกำลังกายเสร็จ
เขา ว่า นั่นถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักเขา และนั่นทำให้รู้ว่าการสื่อสารมีความสำคัญมาก “ชัชชาติ” จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 “ชัชชาติ” เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกควบคุมตัว โดยในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชัชชาติ ได้หันไปทำงานกับภาคเอกชน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในปี 2558 – 2561
กระทั่งเขาตัดสินใจกลับสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อ คสช.เปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 โดยพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อเขาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ทั้งนี้ ถึงแม้พรรคเพื่ไทยจะได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 พรรคพรรคพลังประชารัฐ กลับเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ในเดือน พ.ค.พ.ศ. 2562 ชัชชาติประกาศว่าเขาตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมในงานเปิดตัว เช่น ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ดวงฤทธิ์ บุนนาค และพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นต้น
ก่อนเข้าสู่โมทการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ ประกาศว่า การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้ จะเป็นเดิมพันชีวิตการเมืองครั้งสุดท้ายของเขา โดยหากแพ้การเลือกตั้ง เขาจะเลิกเล่นการเมือง และหันไปทำอย่างอื่น เพราะนั่นหมายถึงว่า ประชาชนไม่ได้สนับสนุนให้เขาทำงาน
กระทั่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ปรากฎว่า ชัชชาติ ได้คะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
เขากล่าวกับผู้สนับสนุนและสื่อมวลชนในวันที่ชนะการเลือกตั้งว่า “วันนี้ 8 ปีที่แล้วเกิดรัฐประหาร ผมถูกคลุมหัว มัดมือ แต่ผมไม่ได้รู้สึกโกรธ แค้น เกลียด ผมให้อภัย มันเตือนใจว่าเมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะกัน เกลียด โกรธกัน สุดท้ายแล้วจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์“