“ประภาศ” ไฟเขียวบริษัท วงษ์สยามฯ ชนะประมูลน้ำภาคตะวันออก
“ประภาศ” เล็งลงนาม “บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด” ผู้ชนะโครงการสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มูลค่า 25,000 ล้านบาท ดีเดย์!! วันที่ 3 พ.ค.นี้
“ประภาศ คงเอียด” ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์และในอีก 5 เดือนข้างหน้าก็จะเกษียณจากราชการในวันที่ 30 ก.ย.2565 ถือเป็นผู้บริหารของกระทรวงการคลังอีกท่านหนึ่งที่นั่งทำงานในตำแหน่งอธิบดีไม่นานนักก็เกษียณแล้ว แต่ในช่วงเวลาของการทำงานอธิบดีกรมธนารักษ์บอกว่า “ไม่มีวันหยุดเลย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เหมือนผมทำงาน 1 ปี แต่นับวันทำงานครบ 365 วัน”
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวทักทาย และกล่าวต่อว่า งานหลักที่ตกค้างมาจากกอธิบดีท่านก่อนๆ ผมสะสางงานให้ทั้งหมดเช่นโครงการบ้านพักคนชรา โครงการบ้านประชารัฐ รวมถึงการมอบที่ราชพัสดุประชาชนเช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีทีทำกินนั้น คาดว่า มีประชาชนนับแสนคน หลายหมื่นครัวเรือนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของกรมธนารักษ์ในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด วันที่ 3 พ.ค.นี้ กรมธนารักษ์ จะลงนามในโครงการสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัทที่ชนะการประมูลคือ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด โดยในวันที่ลงนามวันนั้น กรมธนารักษ์จะได้รับเงินก้อนแรก จำนวน 500 ล้านบาท และเมื่อเริ่มต้นสัญญา บริษัท วงษ์สยามฯ จะจ่ายเงินให้กับกรมอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท จากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้รัฐทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ตลอดสัญญาของโครงการ 30 ปี
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า ก่อนจะมาถึงวันนี้ เรื่องดังกล่าวได้มีการฟ้องร้องต่อศาลมาแล้ว หลายรอบ ตั้งแต่อธิบดีคนที่แล้ว (ยุทธนา หยิมการุณ) ล่าสุด อัยการได้ปลดล็อคให้กรมธนารักษ์สามารถลงนามสัญญากับ “วงษ์สยามฯ” ได้เลย โดยไม่ต้องรอการได้รับความยินยอมจาก บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ในฐานะผู้ได้รับสิทธิบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นสัญญาฉบับที่ 1 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2567 โดยกรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือถึง “อีสท์วอเตอร์” ขอให้ทำการสำรวจและส่งคืนทรัพย์สินคือ “ท่อน้ำ” ให้แก่กรมธนารักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยจะครบกำหนดในช่วงปลายเดือนพ.ค.2565
“เมื่อมีการเซ็นสัญญากับทางวงษ์สยาม และเริ่มต้นสัญญา เท่ากับว่า รัฐได้เงินจากโครงการนี้ทันที 1,500 ล้านบาท ถาม ว่า ผมต้องมีความกังวลอะไร เพราะตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา รัฐได้เงินจากบริษัท อีสท์วอเตอร์แค่ 500 กว่าล้านบาท กรณีนี้ หากสมมุติว่า ธนารักษ์แพ้คดี และศาลสั่งชดใช้ค่าเสียหาย บริษัทอีสท์วอเตอร์ที่ฟ้องเรา ต้องพิสูจน์ค่าเสียหาย ว่า มีมูลค่าเท่าไหร่ และต้องประเมินแบบไม่ใช่การคาดการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยส่วนตัวมองว่า หากกรมฯ ถ้าจะแพ้คดีจริงๆ จ่ายค่าเสียหาย คงไม่มากเท่ากับผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในอนาคตจาก บริษัท วงษ์สยามฯ”
นายประภาศ กล่าวเปิดประเด็นต่อไปอีกว่า ขณะที่ ข้อพิพากษ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกรมธนารักษ์ กับ บริษัท อีสท์วอเตอร์ คดีหลักที่ฟ้องร้องกรมธนารักษ์คือ การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งระบุว่า มีความมิชอบ โดยได้ทำการฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาให้ดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 1 ต่อไปจนจบ ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณายังไม่มีคำพิพากษาจากศาล
เนื่องจากในการเปิดซองคัดเลือกเอกชนในการบริหารและดำเนินกิจการในโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 นั้น ไม่ได้มีการกำหนดใน TOR อย่างชัดเจนถึงศักยภาพของท่อส่งน้ำตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุศักยภาพของท่อส่งน้ำจะอยู่ที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ทั้งนี้ ในหลักการ ผู้ประมูลต้องยื่นข้อเสนอ 2 ด้านคือ 1.ด้านเทคนิคและ 2.ด้านราคา “อีสท์วอเตอร์” เสนอศักยภาพในการส่งน้ำอยู่ที่ 350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมถึงท่อในส่วนของ “อีสท์วอเตอร์” เองด้วย อีกบริษัท เสนอเทคนิคอยู่ภายในกรอบ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับแล้ว “อีสท์วอเตอร์” เสนอรายได้ให้แก่รัฐ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ อีกบริษัทเสนอให้รัฐสูงถึง 6,000 ล้านบาท
อธิบดีกรมรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสนองานด้านเทคนิค ต้องเสนอเฉพาะศักยภาพท่อส่งน้ำของธนารักษ์ ดังนั้น จะเอาศักยภาพอื่นมารวมไม่ได้ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ จึงสั่งยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 และเปิดให้มีการประมูลใหม่ โดยมีการกำหนดชัดเจนใน TOR ถึงศักยภาพด้านเทคนิค ทั้งนี้ หลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 พบว่าทั้ง 2 บริษัทมีการเสนอศักยภาพในการส่งน้ำที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่ากัน ส่วนผลตอบแทนภาครัฐ “อีสท์วอเตอร์” เสนอรายได้ให้แก่กรมธนารักษ์ 24,000 ล้านบาท ขณะที่ “วงษ์สยาม” เสนอ 25,000 ล้านบาท มากกว่าคู่แข่ง 1,000 ล้านบาท
ต่อมา “อีสท์วอเตอร์” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้หยุดทุกกระบวนการคัดเลือกของภาคเอกชน โดยให้รอคำพิพากษาของศาลจนกว่าจะถึงที่สุด ซึ่งต่อมา ศาลได้สั่งยกฟ้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุที่จะต้องคุ้มครอง ต่อมา อีสท์วอเตอร์ได้ยืนต่อศาล เป็นครั้งที่ 2 เพื่อขออุทธรณ์ แต่ศาลสั่งไม่รับคำร้องเช่นกัน ทำให้กรมธนารักษ์สามารถดำเนินการเปิดประมูลรอบ 2 ได้ต่อไป
ถัดมาอีก “อีสท์วอเตอร์” ได้เพิ่มเติมคำฟ้องต่อศาล โดยฟ้องคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีมติรับรองให้ “วงษ์สยามฯ” เป็นผู้ชนะ พร้อมยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลสั่งยกคำร้องเป็นครั้งที่ 3 ทำให้กรมธนารักษ์สามารถเดินหน้ากระบวนการเซ็นสัญญา เพราะหากล่าช้า กรมธนารักษ์จะมีความผิดทางละเมิด เข้าข่ายประมาณที่ทำให้ผลประโยชน์เข้าสู่รัฐล่าช้า
ทั้งหมดนี้คือ หนึ่งในหลายผลงานของอธิบดีกรมธนารักษ์ ก่อนที่จะเกษียณ เพราะเพียงแค่ชิ้นโบแดงเดียว กรมธนารักษ์ก็มีรายได้เพิ่มแบบทะลุทะลวง จากเดิม 500 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านบาท หลายเท่าตัวที่เดียว