SCB วิเคราะห์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลตลาดหุ้นปรับตัวลดลง แต่เป็นผลดีกับทองคำ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 มี.ค. 2019) ตลาดหุ้นทั้งในโซนเอเชีย และตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วต่างปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง OECD ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้และปีหน้าลง อยู่ที่ 3.3% และ 3.4% ตามลำดับ ขณะที่ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ของยูโรโซนในปีนี้ลงอย่างมาก จาก 1.7% เหลือเพียงแค่ 1.1% นอกจากนี้ ตัวเลขส่งออกจีน เดือนก.พ. ปรับลดลงมากถึง 20%YoY ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์ สรอ.กลับมาอ่อนค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาทองคำให้ปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง จากความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนก.พ. ที่เพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่นลท.รอติดตามการเปิดเผยรายละเอียดการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ตลาดหุ้นยุโรป ปรับลดลง จากความกังวลเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มชะลอตัว หลัง ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2019 ลงค่อนข้างมาก จาก 1.7% เหลือเพียงแค่ 1.1%
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากนลท.หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ขานรับการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ที่ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ปรับร่วงลงในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังยอดส่งออกของจีนในเดือนก.พ. ปรับลดลงมากกว่าคาดการณ์
ตลาดหุ้นไทย ปิดลบ เนื่องจากแรงขายจากนลท.ต่างชาติ หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง และภาพรวมผลประกอบการใน 4Q2018 ที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ แม้ว่าปัจจัยการเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้นก็ตาม
ตลาดน้ำมัน ปิดลบ เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันปรับลดลง รวมถึงได้รับแรงกดดันจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์
ตลาดทองคำ ปิดบวก โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้นลท.เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
สภาฯ UK จะลงมติต่อร่างข้อตกลง Brexit ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ โดยคาดว่า สภาฯ UK จะลงมติไม่เห็นชอบต่อข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจาก ตลาดคาดการณ์ว่า ร่างข้อตกลง Brexit ที่ถูกเสนอเพื่อลงมตินั้น ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากร่าง ฉบับก่อนหน้านี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากข้อตกลงดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ จะส่งผลให้ในวันที่ 13 มี.ค. นี้นายกฯ เมย์จะให้สภาฯ ลงมติว่าต้องการออกจากการเป็นสมาชิก EU แบบมีข้อตกลง (Deal) หรือไร้ข้อตกลง (No Deal)
โดยหากสภาฯ มีมติเห็นชอบแบบให้ UK ออกจาก EU แบบมี Deal ในวันที่ 14 มี.ค. นี้ นายกฯ เมย์จะให้สภาฯ ลงมติว่าต้องการให้ EU เลื่อนการให้ Article50 ออกไปจากกำหนดเดิม (29 มี.ค. 2019) หรือไม่ ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงที่ UK ต้องออกจาก EU แบบ No Deal ลดน้อยลง เนื่องจาก UK น่าจะมีการเลื่อน Article50 ออกไปจากกำหนดเดิม อย่างไรก็ตาม สมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศต้องให้ความเห็นชอบ หากมีการเลื่อน Article50 ออกไปจากกำหนดเดิม