เที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ไหว้พระ ชมเมือง ฉลองครบรอบ 240 ปี
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” นี่คือชื่อเต็มของ “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย เอกนครของโลกที่ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book of World Records) ว่า เป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
กรุงเทพมหานคร ได้มีอายุครบ 240 ปี ไปเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 6.54 น.
วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 240 ปี ถือเป็นวันสำคัญที่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง โดยมีแม่กองคือ กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยวาระพิเศษครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงานใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เป้นงานฉลองที่ทุกคนสามารถมาเที่ยววัด ไหว้พระ ชมวัง สัมผัสบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ พร้อมทั้งชมการแสดง แสง สี เสียง ลิ้มรสอาหารไทยต้นตำรับ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม และสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ยาวนาน 5 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 20 – 24 เมษายน 2565
ไฮไลท์ของการจัดงานเฉลิมฉลองกรุงที่อยากชวนทุกคนไปสัมผัสคือ เส้นทางเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งไหว้พระ ชมศิลปะ ชมวัง ชิมอาหาร แวะจุด และมุมต่าง ๆ เพื่อถ่ายภาพเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ โดยเส้นทางการท่องเที่ยวมีด้วยกันดังนี้
พระบรมหาราชวัง
ไฮไลท์ที่สุดของกรุงเทพฯ คงไม่มีที่ไหนงดงามไปกว่า พระบรมหาราชวัง เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ปัจจุบันจะไม่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว แต่พระบรมมหาราชวังก็ยังคงถูกใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทุกปีจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย ปีละเกือบ 10 ล้านคน
พระบรมมหาราชวัง สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
อีกพื้นที่คือ เขตพระราชฐานอันเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ประทับและบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ โดยเขตพระราชฐานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นหน้า เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่าง ๆ และที่ทำการของทหารรักษาพระราชวัง, เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ประดิษฐานของ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท และ เขตพระราชฐานชั้นใน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
โดยทั่วไปเรียก วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ
ใครเคยได้ไปที่นี่จะพบว่า มีความงามแตกต่างจากวัดอื่น ๆ เพราะวัดโพธิ์ ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำ รัชกาลที่ 1-4 อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปสำคัญ และหลายคนบอกที่นี่คือสปาแห่งแรกของประเทศ
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้ สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 3 พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชไทยถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9
สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาวัดนี้ คือ พระประธานมีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์ราวปี 2373และพระสุวรรณเขต หรือ “พระโต” หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
ถัดมาจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ไม่ไกลนัก อยากให้ไปไหว้พระที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ใกล้ ๆ ถนนข้าวสาร เป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งพระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง คือการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และสงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330
พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร ประดิษฐานบนฐานสูง 1.30 เมตรมีพระอัครสาวกซ้ายขวานั่งประนมมือ 2 องค์ เป็นพระปูนปั้นเช่นกัน และมีพระพุทธรูปปูนปั้นและปางมารวิชัยเช่นเดียวกับพระปฏิมาจำนวน 25 องค์ ประดิษฐานรอบฐานชุกชี และยังมีธรรมมาสน์ลายทอง สังเค็ด งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ
วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล และยัง เป็นวัดสำคัญที่พระสันตะปาปาสองพระองค์เคยเสด็จเยือน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดสุทัศนเทพวราราม
มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นวัดในต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ในปี พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ในดงสะแก เป็นที่ลุ่มจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง จนกระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัย รัชกางที่ 3 ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม” ภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า ซึ่งก็คือพื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา มีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงตอนตะวันตก อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน
ความสำคัญของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใครที่เป็นคนไทยขอเชิญชวนให้ไปเข้าชมให้ได้สักครั้งในชีวิต เพราะภายในมีโบราณวัตถุมากมาย ระดับ “มาสเตอร์พีช” ของโลก ทั้งพระพุทธรูป เครื่องมือ เครื่องใช้ สิ่งของมีค่าที่ประเมินค่ามิได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสวยงามชดช้อย ไปดูแล้วถึงกับต้องตะลึกไปตาม ๆ กัน
สวนสันติชัยปราการ
สวนสันติชัยปราการ เป็นสวนบริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป้นป้อมพระนคร 1 ใน 2 แห่งที่ยังคงเหลือให้เห็น สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา
สวนแห่งนี้มีทัศนียภาพของคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามมาก นับเป็นสวนสาธารณะเพียงไม่กี่แห่งของกรุงเทพมหานคร ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมบรรยากาศริมแม่น้ำ และสามารถชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญใครอยากเห็นสะพานพระราม 8 ในมุมที่สวยและสง่าที่สุดต้องมาชมที่นี่ และนอกจากตัวป้อมแล้ว ในบริเวณสวนแห่งนี้ยังมี “ต้นลำพู” ดั้งเดิมอันเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ต้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษาอีกด้วย ที่อยู่มานานตั้งแต่ก่อนมีสร้างสวนและพระที่นั่งฯ แต่ทว่าในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ต้นลำพูต้นนี้ได้ตายลง ทางกรุงเทพมหานคร (ก.ท.ม.) ได้มาตัดทิ้งจนเหลือแต่ตอ
ศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรงมหรสพหลวง ติดกับห้าง ดิโอลด์สยามพลาซ่า เดิมเป็นโรงภาพยนตร์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ศาลาเฉลิมกรุงได้วางศิลาฤกษ์โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 และเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 โดยมี มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ปฐมทัศน์
ภายหลังสร้างเสร็จ ศาลาเฉลิมกรุงได้ชื่อว่าเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งทันสมัยในยุคนั้น เครื่องปรับอากาศที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรับอากาศระบบ ซึ่งเป็นระบบไอน้ำรุ่นแรกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการใช้พัดลมทั่วไป ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485-2488 (รัชกาลที่ 8) ใช้เป็นที่แสดงละครเวทีและดนตรี เนื่องจากไม่มีภาพยนตร์ฉาย ต่อมามีการปรับปรุงใหญ่ สามารถใช้ได้ทั้งฉายภาพยนตร์และการแสดงบนเวทีขนาดกว้างขวางกว่าเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ในนาม เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ และการแสดงโขนจินตนฤมิตร