SCB วิเคราะห์ TRANSPORT & LOGISTICS INDUSTRY 2019
ในปี 2019 อีไอซีประเมินว่า ตลาดธุรกิจการบินสัญชาติไทยมีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยมาอยู่ราว 4%YOY
อีไอซีประเมินว่า ตลาดธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2019 มีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยมาอยู่ราว 4%YOY จาก 4.3%YOY ในปี 2018 จากปัจจัยปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสารที่คาดว่ามีการเติบโตลดลงเล็กน้อยเป็นราว 5.9%YOY จาก 6.1%YOY ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจการบินโลกที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ประเมินว่า รายได้และปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometer: RPK) ของธุรกิจการบินโลกจะชะลอตัวลงเป็น 7.7%YOY และ 6%YOY ตามลำดับ การเติบโตในธุรกิจการบินของไทยโดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายตัวของตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากกว่าเส้นทางบินในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การขยายตัวของตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงจาก 4.9%YOY เป็น 4.7%YOY โดยจะมีมูลค่าในปี 2019 ราว 2.35 แสนล้านบาท เป็นผลจากด้านอุปสงค์การเดินทางที่ชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ไทยและชาวไทยที่เดินทางไปยังต่างประเทศ ขณะที่ อุปทานการให้บริการการบินของสายการบินขยายตัวจากการเพิ่มเที่ยวบินภายหลังการปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO)
ในด้านอุปสงค์การเดินทาง ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ไทยมีแนวโน้มชะลอลงจาก 7.5%YOY เป็น 6.3%YOY หรือมาอยู่ที่ 40.7 ล้านคน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจาก 3.7%YOY เป็น 3.5%YOY ผลจากสงครามการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตในปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2019 คาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวจีนเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 7.4%YOY เป็น 9.8%YOY มาอยู่ที่ 11.5 ล้านคน และจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival)
ส่วนปริมาณชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยจาก 11%YOY เป็น 10%YOY หรือมาอยู่ที่ราว 11 ล้านคน ตามเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลงจาก 4.1%YOY เป็น 3.8%YOY เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ลดลงตามการค้าโลก และการบริโภคภาคเอกชนที่มีอัตราเติบโตลดลงจาก 4.6%YOY เป็น 3.5%YOY ทำให้ความต้องการในการเดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวลดลงตามไปด้วย
ในด้านอุปทานการให้บริการการบิน การเพิ่มความถี่ในเส้นทางการบินเดิมหรือการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ภายหลังการปลดธงแดงจาก ICAO โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carrier: LCC) ในจุดหมายปลายทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารที่ทำให้ผู้โดยสารตัดสินใจซื้อตั๋วได้ง่ายขึ้น ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยโดยรวมมีการเติบโตในอัตราที่ลดลงเล็กน้อย
2. การขยายตัวของมูลค่าตลาดเส้นทางบินภายในประเทศมีโอกาสเติบโตชะลอลงจาก 2.8%YOY เป็น 2.3%YOY หรือมีมูลค่าราว 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผู้เยี่ยมเยือน (visitor) ที่เติบโตลดลงจาก 4.5%YOY เป็น 4.3%YOY มาอยู่ที่ 68.7 ล้านคน ทั้งนี้มูลค่าตลาดเส้นทางบินภายในประเทศประเมินจากปริมาณผู้เยี่ยมเยือนรวมนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยในจังหวัดที่มีสนามบิน 10 จังหวัดหลัก (ซึ่งมี correlation กับมูลค่าตลาดเส้นทางบินภายในประเทศของสายการบิน LCC ราว 85% โดยใน 10 จังหวัดเหล่านี้ไม่รวมกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศ)
อีกทั้งตลาดเส้นทางบินภายในประเทศยังเป็นตลาดที่เริ่มทรงตัวจากในช่วงปี 2016-2018 ที่มีอัตราเติบโตราว 9%CAGR เนื่องจากสายการบิน LCC ได้ขยายเส้นทางบินมาในระยะหนึ่งแล้ว ทำให้การให้บริการในปัจจุบันค่อนข้างเพียงพอต่อความต้องการในการเดินทางโดยเฉพาะชาวไทยในปัจจุบัน ประกอบกับ ขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้การเพิ่มเที่ยวบินทำได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการปลดธงแดงจาก ICAO สายการบิน LCC ส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปกับการเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นหลักทำให้การขยายหรือเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในประเทศไม่เกิดขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ดี อีไอซีประเมินว่า ขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารของสนามบิน, สงครามการค้า และภาวะวิกฤต เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด อุบัติเหตุ ยังเป็นความเสี่ยงในด้านการดำเนินการของสายการบินในปี 2019 โดยในปัจจุบันขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินและผู้โดยสารของสนามบินหลักหลายแห่งเริ่มเกินขีดจำกัดแล้ว ส่งผลให้การขอเพิ่มเที่ยวบินโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็นที่นิยมทำได้ค่อนข้างยากและทำให้การเติบโตของผู้โดยสารมีข้อจำกัดกว่าสนามบินที่ยังมี airport time slot ว่างอยู่ โดยเฉพาะที่สนามบินดอนเมืองซึ่งเป็น hub ของสายการบินต้นทุนต่ำและมีรันเวย์ที่มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 48 เที่ยวบิน/ชั่วโมง แต่ต้องรองรับเที่ยวบินสูงถึง 57 เที่ยวบิน/ชั่วโมง รวมถึงอาคารผู้โดยสารที่มีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารเข้า/ออกมากถึง 41 ล้านคน/ปี
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดดังกล่าวสามารถบรรเทาลงได้จากการปรับตัวของสายการบินและสนามบิน โดยในระยะสั้น สายการบินสามารถเปลี่ยนขนาดเครื่องบินหรือใช้เครื่องบินขนาดเดิมที่มีความจุที่นั่งเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในตารางบินเดิม หรือเพิ่มการให้บริการในเส้นทางบินที่เหมาะสมกับ airport time slot ที่ยังว่าง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินไปยังเกาหลีใต้ในเวลากลางคืน เป็นต้น ส่วนผู้ให้บริการสนามบินสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเข้า/ออกสนามบินของผู้โดยสาร ในระยะยาว ผู้ให้บริการสนามบินกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการหรือเริ่มขยายรันเวย์และสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ
ในด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หากทวีความรุนแรงขึ้น จะเป็นตัวชะลอการเติบโตเศรษฐกิจโลกและส่งผลให้ความต้องการในการเดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวลดลงตามไปด้วย สุดท้าย ภาวะวิกฤตที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (exogenous shocks) เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด อุบัติเหตุต่างๆ จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แต่จะใช้เวลาฟื้นตัวแตกต่างกันตามลักษณะเหตุการณ์ เช่น การปิดสนามบินในปี 2011 ใช้เวลาฟื้นตัว 13 เดือน การจับกุมทัวร์ศูนย์เหรียญในปี 2017 ใช้เวลาฟื้นตัว 3 เดือน และอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตปี 2018 คาดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 6 เดือน เป็นต้น