7 แคนดิเดต ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17
ตัวเต็งตัดแต้มกันเอง-ม้ามืดหวังหักปากเซียน
เข้มข้นเข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)
ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ ขี่วาระกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” และ “เผาบ้านเผาเมือง” เข้าป้ายเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 15” สองสมัย เมื่อวันที่ 3 มี.ค.56 เท่านั้น
แต่เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่มี “ว่าที่ผู้สมัคร ฯ ผู้ว่าฯ กทม.” ที่เคยจรยุทธ์อยู่ในสนามการเลือกตั้งระดับประเทศ และล้วนแต่มีคุณภาพคับแก้ว กระโดดมาบรรเลงเพลงยุทธ์บนสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น-ขันอาสามาเปลี่ยนบ้านแปลงเมืองฟ้าอมร
คนแรก-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เพิ่งลาออกจากผู้ว่าฯกทม.เฉพาะกาล หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. แต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. ขึ้นเป็น “ผู้ว่ากทม.คนที่ 16” แทน “คุณชายหมู” ที่ถูกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ปลดออกไป
พล.ต.อ.อัศวิน ประกาศ ไขก๊อก จากผู้ว่าฯกทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.65 ก่อน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกกต.) จะประกาศการเลือกตั้งเพียง 1 วัน ถือว่าเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่อยู่บนเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.โดยไร้ความกดดัน เพราะได้รับการแต่งตั้งด้วยอำนาจพิเศษ-ไม่สภากทม. (ส.ก.) ไว้คอยถ่วงดุล-ตรวจสอบ
ตลอดระยะเวลาที่พล.ต.อ.อัศวินดำรงตำแหน่งค่อนข้างบอบช้ำจากความขัดระหว่างกทม.กับกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนเกิดภาพ “งัดข้อ” ระหว่างพล.ต.อ.อัศวินกับ “กระทรวงหมอ”
นอกจากนี้ยังมีการต่อสัมปานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับบริษัท BTSC ที่ยังค้างคาอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากกระทรวงคมนาคมที่มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็น “เจ้ากระทรวง” วางเทคติก-ซื้อเวลา ให้กทม.ตอบข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมถึง 8 ครั้ง
การตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ของพล.ต.อ.อัศวิน เที่ยวนี้ มีทีม ส.ก. ชื่อกลุ่ม “รักษ์กรุงเทพ” เป็น “ลมใต้ปีก” ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพต้องไปต่อ”
คนที่สอง-เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว คือ “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนาม “พรรคคุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย
ชื่อ-ชั้น น.ต.ศิธา ไม่ธรรมดา เป็นอดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย สองสมัย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กลายเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค
คนที่สาม-ตัวเต็ง ยืนหนึ่งทุกสำนักโพล “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี – รมว.คมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แม้ “ชัชชาติ” จะประกาศตัวลงในนาม “อิสระ” แต่มีฐานเสียง-เครือข่าย ส.ก.พรรคเพื่อไทยหนุนหลัง
คนที่สี่-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แห่งพรรคก้าวไกล ที่ลาออกจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อมาลงสมัครเป็น “แคนดิเดตผู้ว่ากทม.” สายบู๊-ชนแหลก
คนที่ห้า-ดร.เอ้ สุชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ส่งเข้าประกวด เป็นนักการเมืองหน้าใหม่-อาศัยความสด และความช่ำชองด้านวิศวกร ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ล่าสุด “ดร.เอ้” เพิ่งได้รับ “เหรียญรางวัล” Fukuoka Institute of Technology Chairman’s Medal Ceremony ซึ่งเป็น “คนไทยคนแรก” และ “คนที่สี่ของโลก” ที่ได้รับรางวัลนี้ ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ทว่า “ดร.เอ้” ยังมี “ชนักปักหลัง” ข้อกังขา-ครหา ทุจริตต่อหน้าที่-ร่ำรวยผิดปกติ ที่จู่ ๆ ก็ถูกตั้งลูกจากพรรคคู่แข่ง-พรรคฝ่ายค้าน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร
จนทำให้ “ดร.เอ้” ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ-แก้ลำ “เกมการเมือง-วิชามาร” ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “สอบตัวเอง”
คนที่หก-สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ขออาสามา “สานงานต่อ” ลงในนามอิสระอีกคน อาศัยความได้เปรียบจากการที่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์
สกลธี-ลูกชายของ “พล.อ.วินัย ภัททิยกุล” อดีตเลขาธิการคมช. จึงมีคอนเน็กชั่นกับ “นายพล 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
นอกจากนี้ยังมี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส.เป็น แบ็กอัพ
นับรวมถึง “สามทหารเสือกปปป. ที่สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ทั้ง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” และ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่ยกครัวมากับ “มาดามอีฟ” ทยา ทีปสุวรรณ ที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ
คนที่เจ็ด-รสนา โตสิตระกูล ลงสมัครในนามอิสระอย่างแท้จริง – ไม่มีเงาผู้มีบารมีอยู่ข้างหลัง หรือ เครือข่ายพรรคการเมืองเป็นลมใต้ปีก
รสนา จึงเป็น “ม้านอกสายตา” ดีกรี อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กทม. เมื่อปี 51 เจ้าของคะแนนนิยมจากคนกทม.ทะลุ 7 แสนคะแนน
แม้ “รสนา” ไม่มีกลุ่ม – พรรคการเมือง หรือ กลุ่มทุน-พรรคการเมือง หนุนหลัง แต่เธอมีเชื่อมั่นในเครือข่าย-ทีมงานเบื้องหลัง-พรรคพวกที่คอยสนับสนุนตั้งแต่ได้เลือกตั้ง ส.ว.กทม. เมื่อปี 2551 จนได้คะแนนจากคน กทม.อันดับ 1 กว่า 7 แสนคะแนน
โดยเฉพาะ “ทีมนโยบาย” ที่มาจาก “ภาคประชาสังคม” ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่กลุ่ม NGOs สายตรง และมี “ทีมอาสาสมัคร” ที่เคยทำงานในช่วงเป็นม็อบเสื้อเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
“รสนา” ยังคงทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในช่วงเลือกตั้ง ส.ว. อย่างขะมักเขม้น เฉกเช่นเดียวที่เธอเคยได้รับชัยชนะถล่มทลาย จนกว่ามงกุฎ ส.ว.ถึงสองสมัย โดยทำงานหนักกว่านักการเมือง-คนที่พยายามสร้างภาพว่าเป็นนักการเมือง
ไม่แน่ว่า ตัวเต็ง-ฐานเสียงเดียวกันอาจจะ “ตัดคะแนน” ส่งผลให้เธอ “หักปากกาเซียน” แหวกกระแส “สงครามตัวแทน” ของพรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่ ปาดหน้าพรรคการเมืองน้องใหม่มาแรง ทั้งอิสระและอิงแอบพรรคการเมือง-ผู้มีบารมีทั้งในตึกไทยคู่ฟ้าและซุ้มคนแดนไกลก็อาจเป็นไปได้
แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 7 คน ใครจะเข้าป้ายเป็น “พ่อเมืองเสาชิงช้าคนที่ 17” วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีคำตอบ