เปิด 200 นโยบาย ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ กรุงเทพ เมืองน่าอยู่
200 นโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สร้างกรุงเทพ เป็นเมืองน่าอยู่
เว็บไซต์ AEC10NEWS เปิดนโยบาย ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครในนามอิสระ ประกาศ 200 นโยบาย สร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองน่าอยู่
นโยบายของ “ชัชชาติ” คัดสรรกลั่นกรองจากปัญหาของชาวเมืองกรุง ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ
ชัชชาติ กล่าวว่า เมืองก็เหมือนร่างกายคน มีเส้นเลือดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ทางด่วน ท่อระบายน้ำยักษ์ และเส้นเลือดฝอย เช่น ซอย ทางเท้า ท่อระบายน้ำหน้าบ้าน ปัญหาของกรุงเทพอยู่ที่เส้นเลือดฝอยอุดตัน อ่อนแอ ถ้าทำเส้นเลือดฝอยของเมืองที่แข็งแรง ทำให้ชุมชนแข็งแรง ประชาชนแข็งแรง การทำงานลงรายละเอียดในจุดเล็กๆ อย่างจริงใจ ไม่ย่อท้อ และทำงานอย่างเต็มที่ จะช่วยสร้างให้เมืองงดงามน่าอยู่ได้ในวันข้างหน้า
200 นโยบายของ “ชัชชาติ” อยู่ใน 9 มิติ หรือ “กรุงเทพฯ 9 ดี” ประกอบด้วย ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี
เริ่มจาก “ปลอดภัยดี” เป็นนโยบายลดจุดเสี่ยงสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพิ่มความพร้อมในการรับมือกับเหตุ เสริมความมั่นคงในชีวิตให้คนไร้บ้าน แบ่งเป็น 32 นโยบายย่อย
เช่น ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย โดยจะปรับปรุงป้ายรถเมล์ทั่วกรุง เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสในการที่ประชาชนจะเลือกเดินทางด้วยรถเมล์ , จัดหายานพาหนะเพื่อดับเพลิงในที่คับแคบ โดยศึกษาการจัดหารถดับเพลิงขนาดเล็ก เรือดับเพลิงขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์เครื่องลากจูงหาบหาม ที่มีความจุน้ำ ปั๊มน้ำ และอุปกรณ์การระงับเหตุและช่วยเหลือขั้นเบื้องต้นในการเผชิญเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัย ที่สามารถเพิ่มความคล่องตัว และลดระยะเวลาในการเข้าระงับเหตุให้ได้ตามมาตรฐานสากล
ต่อมา “สุขภาพดี” มี 30 นโยบาย เช่น จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น‘ ศึกษาต้นตอ PM2.5 กทม. โดย กทม.จะเป็นเจ้าภาพในการทำบัญชีที่มาของฝุ่นภายในกรุงเทพฯ ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการสืบทราบต้นตอของฝุ่น ทั้งการเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์องค์ประกอบ เช่น คุณสมบัติทางเคมี อิออน โลหะหนัก เพื่อเก็บสถิติและระบุถึงต้นตอนของฝุ่น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งในแง่การป้องกันการปล่อยมลพิษ และในแง่การเอาผิดจากผู้ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน
พร้อมกันนี้ยังมีโครงการ ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
“สร้างสรรค์ดี” 20 นโยบาย เช่น เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน , ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน , ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน , เปลี่ยนศาลาว่าการและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นต้น
“สิ่งแวดล้อมดี” 33 นโยบาย เช่น เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย จะพัฒนาโครงสร้างพื้นที่จำเป็นโดยเฉพาะด้านความสะอาด ได้แก่ การจัดตั้งจุดทิ้งและจุดแยกขยะรวม บ่อดักไขมัน พร้อมกับกำหนดแนวทางในการทำความสะอาดพื้นที่ร่วมกันระหว่าง กทม.และผู้ประกอบการในพื้นที่ โดย กทม.และกลุ่มผู้ค้าจะเป็นกำลังหลักในการช่วยกันดูแลพื้นที่สาธารณะให้สะอาดอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ , สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร พยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5
“บริหารจัดการดี” 28 นโยบาย เช่น ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ เช่น พิกัดจุดขาย สำหรับการติดตามและดูแลให้ผู้ค้าประกอบกิจการภายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ข้อมูลผู้ค้าและผู้ช่วยการค้า สำหรับการดูแลอบรมผู้ค้าเพิ่มศักยภาพในการขาย (เช่น การอบรมแนวทางการรักษาความสะอาดของพื้นที่ สุขอนามัยอาหาร) และการป้องกันการสวมสิทธิของผู้ค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต
และยังมีนโยบาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ กทม. , เปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ พื้นที่ในการรับฟังเสียงและความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ , เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของ กทม.และกรุงเทพธนาคม , ย้ายระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขึ้นสู่ระบบออนไลน์ เป็นต้น
“เรียนดี” 26 นโยบาย เช่น ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ โดยเริ่มจากเพิ่มการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นสังคมต่างๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อทำความเข้าใจประเด็นอ่อนไหว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือชาติพันธุ์
พร้อมด้วยนโยบาย คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี , เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ช่วยครู สำหรับวิชาเฉพาะทาง เช่น ภาษา เทคโนโลยี After School Program , เรียน เล่น หลังเลิกเรียน พัฒนาโครงการหลังเลิกเรียน (After School Program) โดยการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน
“โครงสร้างดี” 29 นโยบาย เช่น สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย โดยพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เชื่อมต่อการเดินทางทั้งระบบ ระหว่างขนส่งสาธารณะสู่ขนส่งสาธารณะ หรือจากรถส่วนตัวสู่ขนส่งสาธารณะ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง และลดผลกระทบจากสภาพอากาศ พร้อมมีข้อมูลแนะนำในการเชื่อมต่ออย่างครบถ้วน
ตัวอย่างพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ได้แก่ 1. สำนักงานเขตบางเขนที่มีที่ว่างพัฒนาได้และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ 2. BRT สถานีราชพฤกษ์ พื้นที่ใต้สะพานข้ามแยกรัชดาฯ – ราชพฤกษ์ ปัจจุบันเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเบื้องต้นอยู่แล้ว เนื่องด้วยสามารถเชื่อมต่อกับ BRT รถเมล์สาย 15 กับ 68 และสถานีตลาดพลู รถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายในมีพื้นที่ว่างกว้างขวาง มีห้องน้ำสาธารณะ เหมาะแก่การพัฒนาเป็น hub 3. ใช้พื้นที่ของเอกชน เช่น ใช้พื้นที่ลานจอดรถด้านนอกของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ชัชชาติ ยังมีนโยบาย เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย , พัฒนาโครงสร้างพื้นที่จำเป็นโดยเฉพาะด้านความสะอาด ได้แก่ การจัดตั้งจุดทิ้งและจุดแยกขยะรวม บ่อดักไขมัน พร้อมกับกำหนดแนวทางในการทำความสะอาดพื้นที่ร่วมกันระหว่าง กทม.และผู้ประกอบการในพื้นที่ โดย กทม.และกลุ่มผู้ค้าจะเป็นกำลังหลักในการช่วยกันดูแลพื้นที่สาธารณะให้สะอาดอยู่เสมอ ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที ทบทวนศึกษา เตรียมแผนรับมือ และจัดสรรงบประมาณเร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักกว่า 48 จุด
“เศรษฐกิจดี” 23 นโยบาย เช่น เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว ,ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม มูลนิธิฯ ต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนผู้ประกอบการในการจัดทำฐานข้อมูลและดูแลเรื่องสวัสดิการ ส่งต่อสู่โครงการฝึกอาชีพ การอบรมระยะสั้น และช่วยหางานให้เหมาะกับช่วงอายุและพื้นฐานรายบุคคล เช่น พนักงานดูแลสวนและตัดต้นไม้ พนักงานคัดแยกขยะ พนักงานทำความสะอาด หรือแรงงานก่อสร้างและช่างทั่วไป
และยังมีนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ เช่น มกราคม – เทศกาลดนตรีในสวน ใช้พื้นที่สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ ทุกเขต โดยเวียนจัดงานแสดงดนตรี และจัดงาน Bangkok Design Month ในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ กทม. กุมภาพันธ์ – เทศกาลดอกไม้แห่งความรัก ใช้พื้นที่เขตบางรักจัดงานดอกไม้จดทะเบียนสมรสวาเลนไทน์, เขตพระนครจัดงานดอกไม้ปากคลองตลาด, เขตจตุจักรจัดงานชมดอกชมพูพันธุ์ทิพย์สวนรถไฟ, เขตบางกะปิจัดงานชมดอกไม้ย้อนยุคระลึกรักขวัญเรียม และเขตประเวศจัดงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9
“เดินทางดี” 39 นโยบาย เช่น ทบทวน BRT เพื่อพิจารณาการดำเนินโครงการ จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าของ BRT ว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ , ลดรถ ลดติด ด้วยจอดแล้วจร ร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มจอดแล้วจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าปลายทางในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก เพื่อลดการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าสู่เมืองชั้นใน โดยพิจารณามาตรการจูงใจการจอด เช่น จอดฟรี หรือนำค่าจอดเป็นส่วนลดค่าเดินทาง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการจอด
ตัวอย่างพื้นที่พิจารณาทำจอดแล้วจร เช่น สำนักงานเขตบางเขนสำหรับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือกรมทางหลวงบริเวณมอเตอร์เวย์สำหรับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีลาดกระบัง