ที่สุดการเมืองปี 2564
การเมืองปี 2564 มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย เว็บไซต์ AEC10News รวบรวมไฮไลท์การเมืองตลอดทั้งปีไว้ ดังนี้
ปลด 2 รัฐมนตรี
ถ้าจะพูดถึงการเมืองที่สุดแห่งปี 2564 คงจะหนีไม่พ้น ศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะได้เห็นการขุดคุ้ยความล้มเหลวในด้านการบริหารงานของรัฐบาลแล้ว ยังทำให้เกิดรอยร้าวถึงขั้นแตกหักในคณะรัฐมนตรี(ครม.)
ผลโหวตอภิปรายฯครั้งนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุดคือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไว้วางใจ 270 คน ไม่ไว้วางใจ 199 คน งดออกเสียง 8 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้คะแนนรองบ๋วย ไว้วางใจ 264 คน ไม่ไว้วางใจ 208 คน งดออกเสียง 3 คน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้คะแนนบ๋วยสุด ไว้วางใจ 263 คน ไม่ไว้วางใจ 201 คน งดออกเสียง 10 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน
ว่ากันว่า ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ได้ให้ ส.ส.พรรคเล็กโหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมี 4 พรรคเล็กโหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคไทรักธรรม และพรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย
ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องตัดสินใจเด็ดขาด ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พ้นจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับปลด น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ พ้น รมช.แรงงาน ด้วยเหตุผลที่คนทั้งคู่คิดการใหญ่ บีบนายกรัฐมนตรีให้ปรับ ครม.เพื่อที่ตนเองจะได้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น
โดยมีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส ใช้กลไกสภาบีบให้ บิ๊กตู่ ต้องปรับ ครม.โดยให้ตนเองได้เป็น รมว.มหาดไทย แทน บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แต่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ยอม จึงต้องปลดออกจากรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ผลพวงจากการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” ในครั้งนั้น ยังมีผลอยู่จนทุกวันนี้ เพราะแม้จะปลด ร.อ.ธรรมนัส จะพ้น รมช.เกษตร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้นเลขาพรรคพลังประชารัฐได้ โดยผู้กองธรรมนัส ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในพรรคพลังประชารัฐ และยังเป็นบุคคลที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ความไว้วางใจ
สภาล่มเป็นว่าเล่น
นับตั้งแต่สภาชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2562 เกิดเหตุการณ์สภาล่มแล้ว 12 ครั้ง แต่หากนับเฉพาะปี 2564 จะพบว่าเกิดเหตุการณ์สภาพล่มบ่อยถึง 8 ครั้ง ดังนี้
30 มิ.ย.64 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ…
1 ก.ค.64 พิจารณาญัตติด่วนแก้โควิด
10 ก.ย.64 ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….
17 ก.ย.64 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
3 พ.ย.64 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน
17 พ.ย.64 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่…) พ.ศ….
15 ธ.ค.64 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(ประธานสภาฯไม่ขานองค์ประชุม)
17 ธ.ค.64 พิจารณา เรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ
เหตุการณ์สภาล่มส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านประเมินแล้วว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มาประชุมกันไม่ครบองค์ จึงเสนอให้มีการนับองค์ประชุม สุดท้ายองค์ไม่ครบ ทำให้สภาล่มในที่สุด
แม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการกำชับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้เข้าร่วมประชุมทุกคน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะการประชุมในวันศุกร์ ซึ่ง ส.ส.หลายคนเลือกที่จะลงพื้นที่ พบปะประชาชนมากกว่าการเข้ามาประชุมสภา ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาล่มอย่างต่อเนื่อง
แก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ตั้งแต่ต้นปีมีการรณรงค์ เสนอร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของ ส.ส.และภาคประชาชน
ในเดือน มิ.ย.ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกันมากถึง 13 ร่าง ดังนี้
ร่าง 1 ของพรรคพลังประชารัฐ (มี 5 เรื่องรวมกัน สิทธิเสรีภาพ / บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ / ตัดบทลงโทษ ส.ส.ดูเรื่องงบ / ตัดข้อห้าม ส.ส.เกี่ยวข้องราชการ / ให้ ส.ส.ร่วมติดตามปฏิรูปประเทศกับ ส.ว.)
ร่าง 2 เพื่อไทย เพิ่มสิทธิเสรีภาพ
ร่าง 3 เพื่อไทย บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ร่าง 4 เพื่อไทย ปิดสวิตช์ ส.ว.
ร่าง 5 เพื่อไทย รื้อมรดก คสช.
ร่าง 6 ภูมิใจไทย ปรับยุทธศาสตร์ชาติ
ร่าง 7 ภูมิใจไทย ประกันรายได้พื้นฐาน
ร่าง 8 ประชาธิปัตย์ เพิ่มสิทธิของประชาชน
ร่าง 9 ประชาธิปัตย์ แก้ไขวิธีแก้ รธน.ในทำได้ง่ายขึ้น
ร่าง 10 ประชาธิปัตย์ แก้การตรวจสอบ ป.ป.ช.
ร่าง 11 ประชาธิปัตย์ ปิดสวิตช์ ส.ว.
ร่าง 12 ประชาธิปัตย์ กระจายอำนาจ
ร่าง 13 ประชาธิปัตย์ เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น2ใบ
ขณะที่บรรยากาศนอกสภา กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ถือฤกษ์วันครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน มายังรัฐสภา แยกเกียกกาย เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐสภา เรียกร้องให้การแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยให้ราษฎรเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นอีกหนึ่งคนที่พยายามออกไปพบผู้ชุมนุม แต่กลับถูกแนวร่วมราษฎรโห่ไล่และขว้างปาขวดน้ำใส่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบกันตัวออกจากสถานที่ชุมนุม
สำหรับผลการลงมติทั้ง 13 ร่างปรากฎว่า รัฐสภารับเพียงร่างเดียวคือ ร่าง 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ
ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายลูก รับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน
แกนนำม็อบนอนคุก
การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล ไม่ดุเดือดเหมือนปี 2563 เนื่องจากแกนนำฝ่ายผู้ชุมนุมถูกจับกุมดำเนินคดี เช่น
“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 43 คดี
“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 30 คดี
อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี
“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี
เบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี
ขณะที่นักกิจกรรมอีกหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากเช่นกัน คดีความเหล่านี้ สร้างภาระทั้งในแง่เวลา การเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ จึงยังเป็นปัญหาสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมือง