5 แบงก์ใหญ่ฟันกำไรรวม 1.67 แสนล้าน
ประเมินภาพผลกำไร “5 แบงก์ใหญ่” ในปี 2561 พบสูงกว่า 1.67 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 7.04%
ใครที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก หลายธุรกิจ-อุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบมากมาย ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ปัญหา BREXIT ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยของอียูและหลายประเทศชั้นนำ รวมถึงจากปัจจัยภายในประเทศ อันเป็นผลต่อเนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาล คสช.ยาวนานถึง 5 ปี รวมถึงผลกระทบจากภาวะ Disruption ซึ่งความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้เข้าทำลายธุรกิจหลายตัว จนต้องพับฐานและหายไปจากสารบบธุรกิจในวันนี้และในอนาคตอันใกล้
แต่หากหันไปมองที่ผลประกอบการตลอด 1 ปีของสถาบันการเงิน โฟกัสในกลุ่ม 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของเมืองไทยแล้ว ดูเหมือนสิ่งนี้จะย้อนแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่หลายสถาบัน แม้กระทั่ง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2561 กันอยู่หลายครั้ง
สุดล่าสุด หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า จีดีพีในปีที่ผ่านมา น่าจะโตอยู่ที่ระดับ 4.2-4.3% กระนั้น การดำเนินงานของเขาก็เติบโตมากมายจนหลายธุรกิจ-อุตสาหกรรม อาจต้องมองค้อน…ด้วยเพราะผลกำไรที่ทำกันออกมานั่นเอง
ไล่เรียงกันไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พบว่ามีกำไรสุทธิถึง 40,068 ล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อน 7.1% แต่ตัวเลขของผลกำไรในระดับนี้ ท่ามกลางสภาวะการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัจจัยลบจากภายนอกประเทศ ถือว่าไม่ธรรมดาจริงๆ
ที่สำคัญ เม็ดเงินที่เป็นผลกำไรนั้น ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุนในโครงการด้านเทคโนโลยี ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า…โครงการ Transformation ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 46.8% ในปี 2561
เรียกว่า…ตัดกำไรเพื่อเอาไปลงทุนในด้านที่จะต่อยอดธุรกิจในอนาคต ดีกว่าจะยอมเสียภาษีเข้ารัฐ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของหลายองค์กรบริษัทชั้นนำของไทยและของโลก
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ทำกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาที่ระดับ 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.39%
ด้านธนาคารกรุงเทพ ที่หลายคนอาจมองว่าแบงก์แห่งนี้ ค่อนข้างจะบริหารงานแบบ “อนุรักษ์นิยม” ไปสักนิด แต่นั่นเพราะกลุ่มผู้อาวุโสของแบงก์นี้ อาจมองเห็นอะไรได้ลึกและกว้างกว่ามุมมองของ “คนหนุ่ม” จากแบงก์อื่นๆ ก็เป็นได้ โดยผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพในปีที่ผ่านมา มีมากถึง 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากปี 2560
โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7.1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.40% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.1% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน
ส่วนผลประกอบการของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน พวกเขามีผลการดำเนินงานในปี 2561 ที่สุดจะเข้มแข็ง โดยมีกำไรสุทธิถึง 24,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่สูงถึง 10.4% และการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมทั้งการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ตอกย้ำศักยภาพที่แข็งแกร่งของกรุงศรีและความคล่องตัวในการปรับพอร์ตสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง
สำหรับธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการสานต่อและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้นใหญ่นั้น กลายเป็นแบงก์สุดท้ายในกลุ่ม “5 แบงก์ใหญ่” ที่แจ้งผลการดำเนินงานในปี 2561 ช้าที่สุด แต่เป็นความช้าที่ชัวร์
ทั้งนี้ ปี 2561ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย สร้างผลกำไรได้ถึง 28,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.0% จากปีก่อน โดย กลุ่มธนาคารมีสินเชื่อรวมเติบโต 4.4% และสินเชื่อทุกกลุ่มเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่เน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสม และบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตามหลักความระมัดระวัง ทั้งจากนโยบายการจัดชั้นเชิงคุณภาพที่เข้มงวดขึ้น และนโยบายการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 125.81%
สรุป ผลกำไรสุทธิของ “5 แบงก์ใหญ่” (รวมบริษัทในเครือฯ) ในปีที่ผ่านมา จะพบว่าพวกเขาสร้างผลงานเอาไว้รวมกันถึง (ไทยพาณิชย์ 40,068 ล้านบาท + กสิกรไทย 38,459 ล้านบาท + กรุงเทพ 35,330 ล้านบาท + กรุงศรีอยุธยา 24,800 ล้านบาท + กรุงไทย 28,491 ล้านบาท) 167,148 ล้านบาท
หากนำไปเปรียบเทียบกับผลกำไรสุทธิของปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละแบงก์มีผลการดำเนินดังนี้ ไทยพาณิชย์ 43,152 ล้านบาท + กสิกรไทย 34,338 ล้านบาท + กรุงเทพ 33,008.71 ล้านบาท + กรุงศรีอยุธยา 23,209.27 ล้านบาท + กรุงไทย 22,445.40 ล้านบาท
รวมผลกำไรสุทธิของทั้ง “5 แบงก์ใหญ่” ในปีที่แล้ว ราว 156,153.38 ล้านบาท
สรุป! กำไรปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงเกือบ 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.04% เลยทีเดียว
ถึงได้เกริ่นในตอนต้น ใครว่า…เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก แต่กับธุรกิจแวดวงธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุกๆ ปี ชนิดไม่ค่อยจะพร่องไปสักเท่าใด?.