เปิดใจ “ยุทธนา หยิมการุณ” รักกีฬาและรักประเทศ
ท่ามกลางความดีใจของคนไทย ที่เห็น บาส-เดชาพล และ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคู่แรกที่ได้แชมป์โลกแบดมินตัน แต่ในวินาทีที่ต้องอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ก็เกิดภาพประหลาดขึ้น
แทนที่เราจะใช้ธงชาติไทยเหมือนคนอื่นเขา แต่เรากลับต้องใช้ธงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว เขียนว่า BAT (Badminton – Association – Thailand) เช่นเดียวกับในเอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ ที่ทีมชาติไทยกำลังแข่งอยู่ แถมกำลังฟอร์มดี แต่เราไม่สามารถใช้ธงชาติไทยได้เช่นกัน ต้องใช้ โลโก้ช้างศึกตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้ว 1 รอบ ตอนนี้เห็นเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อีกครั้ง เลยอยากอธิบายให้เข้าใจอย่างรวบรัด และอัพเดทถึงสถานการณ์ล่าสุด ประเทศไทย โดนแบนห้ามใช้ธงชาติไทย ตามคำสั่งของ WADA (องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก) โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายของไทย ยังไม่อัพเดทให้เท่าทัน Code ของ WADA ในทุกๆ ปี WADA จะอัพเดท Code หรือกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้เท่าทันกับการใช้สารกระตุ้นที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ และ WADA คาดหวังให้แต่ละประเทศอัพเดทกฎหมายของตัวเองอย่างรวดเร็ว ให้ตรงตาม Code ใหม่ด้วย
ในการอัพเดทกฎล่าสุดของ WADA วันที่ 1 มกราคม 2021 มีการระบุเรื่อง “นิยามการระบุโทษ” โดยกล่าวว่า โค้ชคนไหนที่มีส่วนกับการโด๊ปในประเทศนั้น ต้องมีบทลงโทษทางกฎหมายด้วย และห้ามทำงานเกี่ยวข้องกับกีฬาโดยสิ้นเชิง แต่กฎหมายของไทย ในพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่มีจุดนี้
เหมือนอย่างกรณีของหลิว หนิง โค้ชชาวจีนของทีมยกน้ำหนักไทย ที่ใช้เจลใสแบบพิเศษ ที่มีฤทธิ์ของสารกระตุ้น จนนักกีฬายกน้ำหนักไทยโดนแบนไป 10 คน ตัวหลิว หนิง อาจโดนสมาคมยกน้ำหนัก แบนตลอดชีวิตก็จริง แต่ไม่มีบทลงโทษใดๆ ตามกฎหมายไทย ซึ่ง WADA อยากให้มีบทลงโทษตามกฎหมายด้วย
ดังนั้นเพื่อให้ WADA พอใจ เราก็ต้องแก้กฎหมาย ใน พรบ. ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬานั่นเอง ประเทศอื่นใช้เวลาไม่นานนัก ในการแก้ไขกฎหมาย แต่ปัญหาของเราคือขั้นตอนการแก้กฎหมายไทยมีความซับซ้อนกว่ามาก การแก้พรบ. ของไทย ต้องส่งเรื่องให้สภาล่าง โหวตผ่าน 3 วาระ จากนั้นเอากลับมาให้วุฒิสภาโหวตอีก 3 วาระ กว่าจะถูกปรับใช้เป็นกฎหมายได้ คือหลายๆ กฎหมายในไทยใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะแก้ไขกันได้สำเร็จ มันเป็นแบบนั้นมาตลอด ดังนั้นมันยากมาก ที่เราจะแก้ไขได้ทันในกรอบเวลา 10 เดือนที่ WADA ให้
ขั้นตอนปกติก็ช้า ก็อุ้ยอ้ายจะแย่อยู่แล้ว บวกซ้ำไปอีกกับการที่สภาไทย มีแต่ความวุ่นวาย เดี๋ยวล่ม เดี๋ยวองค์ประชุมไม่ครบ อย่างสัปดาห์ก่อน องค์ประชุมไม่ครบทำให้ 11 โมง ส.ส.ที่มา ก็เลิกงานกลับบ้านกันแล้ว กฎหมายอะไรต่างๆ ที่รอคิวพิจารณา ก็ทำอะไรไม่ได้เลย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เล่นเกมใส่กัน โดยไม่คิดถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะไปหวังให้ พรบ. ถูกแก้ได้เร็วๆ น่ะหรือ ไม่มีทางหรอก
เดือนตุลาคม 2564 เดดไลน์มาถึง สรุปคือไทยยังไม่มีกฎหมายอัพเดทเกิดขึ้น WADA ก็เลยสั่งแบนธงชาติไทยเป็นการสั่งสอน และสั่งห้ามจัดอีเวนต์กีฬาในไทย เป็นบทลงโทษที่ไม่ยอมกระตือรือร้นทำตามข้อบังคับที่แจ้งมา พอเรื่องมันใหญ่แล้ว ถึงค่อยมาเดือดเนื้อร้อนใจกัน 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จะเสนอร่างกฎหมายแก้ไขสารต้องห้าม ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้ออกมาเป็นพระราชกำหนด (พรก.) ก่อน โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
พรก. คือ กฎหมายพิเศษ ที่ไม่ต้องผ่านความล่าช้าของสภา แต่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยตรงได้เลย เป็นอำนาจฉุกเฉินของรัฐบาลที่จะใช้ในเรื่องสำคัญ คือถ้าไม่ได้ใช้ทางลัด ด้วย พรก. ล่ะก็ เข้าสภาปกติ แก้พรบ. อีก 2 ปี ก็คงยังยากที่จะแก้สำเร็จ
ตามที่ ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย แจ้งเอาไว้ว่า พรก.น่าจะออกในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะส่งเรื่องให้ WADA พิจารณาทันที ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย เราจะโดนปลดโทษแบนออก ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งก็จะทันพอดี กับซีเกมส์ปีหน้าที่จัดเวียดนาม ในเดือนพฤษภาคม 2565 และ เอเชียนเกมส์ ที่จัดในจีนเดือนกันยายน 2565 ก็หวังว่าจะทำได้ตามที่พูดไว้ เอาพรก. ออกมาก่อนก็ยังดี มีกฎหมายอะไรบ้างให้ WADA เห็น เพราะสำหรับคนในวงการกีฬาการโดนแบนธงชาตินี่ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายนะ
ลองนึกภาพ เทนนิส พาณิภัค ได้ทองเอเชียนเกมส์ปีหน้า แต่ไม่มีธงชาติไทยขึ้นยอดเสาสิ จินตนาการไม่ออกเลยใช่ไหม? ถ้าในซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ สองทัวร์นาเมนต์นี้ ไทยลงแข่งแต่ไม่มีธงชาติล่ะก็ คงเป็นอะไรที่ดูไม่จืดมากๆ แค่เคสของบาส-ปอป้อ กับ ซูซูกิคัพที่เป็นอยู่ ก็สมเพชจะแย่จนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว
เรื่องนี้ กระแสในโลกออนไลน์ คือโมโหกราดเกรี้ยว ซึ่งก็ผมเข้าใจได้นะ เหตุผลแรก เพราะหน่วยงานรัฐ ย่อมต้องรู้แต่แรกว่า WADA เขาต้องการอะไร แต่ทำไมไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา จนต้องโดนสั่งแบนจริงๆ ถึงจะมาเดือดเนื้อร้อนใจ ผลักดันผ่านทางลัด คือพรก. ไปก่อน
เรื่องธงชาติ เป็นศักดิ์ศรีเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เรื่องนี้ไม่สำคัญพอที่จะยื่นเรื่องแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะโดนแบนรึ? เหตุผลที่สอง หน่วยงานกฤษฎีกา ฝ่ายดูแลกฎหมายของรัฐบาลทำอะไรอยู่ ทำให้เร็วกว่านี้ไม่ได้หรือ นี่มันเรื่องใหญ่ขนาดนี้ มองว่ามันเป็นวาระเร่งด่วนได้ไหม รายงานความคืบหน้าทุกระยะเลยยิ่งดี
และเหตุผลที่สามคือ การออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายที่ล่าช้าในช่วง 1-2 ปีหลัง เกี่ยวข้องกันไหม กับการที่สภาล่างของประเทศไทย มีการล่มซ้ำซากอย่างน่าเบื่อตลอดเวลา
ลองเสิร์ช Google ว่าสภาล่ม สิครับ จะเห็นเลยว่าตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ คิดดูว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราผ่านกฎหมายสำเร็จแค่ 38 ฉบับเท่านั้น
การที่สภาล่มเกิดจาก ส.ส. มาร่วมประชุมไม่ถึงครึ่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าสส. มี 500 คน แต่คนมาเข้าประชุมไม่ถึง 250 คน ก็เปิดการประชุมไม่ได้ เมื่อเปิดไม่ได้ ก็พิจารณากฎหมายใดๆ ไม่ได้เลย บางคนติดลงพื้นที่หาเสียง บางคนนั่งอยู่แท้ๆ แต่ไม่ร่วมนับองค์ประชุมด้วย บางคนถ้าเป็นวาระของฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เข้าร่วมมันดื้อๆ เลยก็มี ส.ส. คือตัวแทนของประชาชน ที่เราเลือกคุณเข้าไปเพื่อออกกฎหมาย หน้าที่ของคุณที่รับเงินเดือนมากกว่า 1 แสนบาท คือออกกฎหมายใหม่มาให้เรา หรือทำการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเดิมที่ล้าสมัย ให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน แต่ถ้าคุณไม่รับผิดชอบงานของตัวเอง และไม่เคยมองประชาชนเป็นที่ตั้ง ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นอยู่ ณ เวลานี้ รัฐสภามูลค่า 2 หมื่นล้านแล้วยังไง จะมีความหมายอะไร ถ้าคนที่ต้องใช้มันทำงาน อย่าง ส.ส. กลับไม่ทำตามหน้าที่ของตัวเอง