การเมืองตรงข้ามเข้าสภาฯแต่สงครามการค้ายังอยู่
ผลเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ
ออกมาแล้ว ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาฯ อยู่ต่างขั้วกับ ปธน.ทรัมป์ เผยนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้า เหตุเป็นอำนาจตรงของผู้นำ เชื่อกระทบเศรษฐกิจและส่งออกไทย เพราะเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้ากับจีน จับตาธุรกิจเสี่ยง พลาสติก ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ลุ้น ผู้นำ “สหรัฐฯ-จีน” เคลียร์นอกรอบในเวทีประชุม G20 ช่วง 30 พ.ย.นี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคระห์ ภายหลังทราบผลการนับคะแนนเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2018 แม้ว่ายังไม่เสร็จในบางรัฐ แต่ภาพที่เห็น เผยว่า พรรคเดโมแครตสามารถคว้าชัยได้คะแนนเสียงครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ถึง 223 คน ขณะที่พรรครีพับลิกัน สังกัดของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ที่นั่ง 197 คน อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันได้ที่นั่ง 51 คน ขณะที่พรรคเดโมแครตได้ที่นั่ง 46 คน (รวมที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง) ทำให้สภาคองเกรสในอีก 2 ปีข้างหน้าอยู่ในสภาวะที่ ปธน.ทรัมป์ กับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากพรรคเดียวกัน
ผลการเลือกตั้งที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาจากคนละพรรค เป็นไปตามคาด และตลาดการเงินโลกในภาพ รวมตอบสนองเชิงบวก โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบไปด้วยการเลือก ส.ส.435 คน ซึ่งพรรคเดโมแครตได้ที่นั่งเกินครึ่ง (218 คน) อย่างน้อย 5 คน ขณะที่วุฒิสภา เลือกตั้งเพียง 1 ใน 3 ของสมาชิกฯทั้งหมด 100 คน พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมาก และมากกว่าพรรคเดโมแครตอย่างน้อย 2 คน (รูปที่ 1) เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ปรับสูงขึ้น 2.12% และภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกตอบสนองในเชิงบวก จากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อย 0.12% สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 32.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมไม่ได้ส่งผลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯโดยตรง เนื่องจากนโยบายการค้าเป็นอำนาจพิเศษของ ปธน.ทรัมป์ แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้แก่พรรคเดโมแครต แต่เนื่องจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นอำนาจของปธน.ทรัมป์ โดยตรง ซึ่งปัจจุบันการใช้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) และมาตรา 232 ของกฎหมายการขยายการค้าสหรัฐฯ (Trade Expansion Act of 1962)
ปธน.ทรัมป์สามารถออกคำสั่งพิเศษได้โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส ทำให้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อทิศทาง ความสัมพันธ์และนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนตามมาตรา 301 ที่สมาชิกทั้งสองพรรคในสภาคองเกรสเห็นพ้องต้องกันในประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนต่อสหรัฐฯ จากประเด็นการบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี ผนวกกับความต้องการลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนของ ปธน.ทรัมป์ ทำให้ประเด็นความเสี่ยงสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนยังคงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงยังมีอยู่
อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่ามาตรการกีดกันทางการค้าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจมีท่าทีลดความรุนแรงลง เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในระยะถัดไปมีแนวโน้มกระทบหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในสัดส่วนที่สูงกว่าการขึ้นภาษีในรอบที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติมที่ EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2018: 2018 US midterm election กับนัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก)
การออกร่างกฎหมายใหม่มีแนวโน้มยืดเยื้อและใช้เวลาในการเจรจา รวมถึงเพิ่มความเสี่ยง government shutdown ในระยะต่อไป และฝ่ายบริหารมีแนวโน้มออกคำสั่งพิเศษโดยไม่ผ่านสภาคองเกรสมากขึ้น เมื่อพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้กฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสถูกปัดตกในวุฒิสภาสูงขึ้น ฉะนั้นการออกกฎหมายภายหลังการเลือกตั้งจะมีแนวโน้มต้องใช้การประนีประนอมกันในสภาคองเกรสมากขึ้น ซึ่งหากพรรครีพับลิกันต้องการให้ร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรอาจต้องแลกกับการยอมแก้ไขรายละเอียดบางส่วนหรือให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคเดโมแครตผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภา
โดยมีความเป็นไปในแนวทางคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่จะส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายใหม่ในสภาคองเกรสมีความล่าช้ากว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใช้คำสั่งพิเศษสั่งการหน่วยงานรัฐโดยตรงภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรส อย่างไรก็ตาม บางนโยบายที่ยังคงต้องผ่านสภาคองเกรสมีแนวโน้มใช้เวลานานขึ้นและมีความไม่แน่นอน เช่น นโยบายการปฏิรูปภาษี และงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจะต้องทำงานหนักขึ้นในการล็อบบี้นโยบายต่างๆ หากต้องการให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร
นโยบายการปฏิรูปภาษี (tax reform 2.0) เป็นนโยบายที่เสนอโดยพรรครีพับลิกัน ซึ่งเน้นเรื่องขยายการลดภาษีบุคคลธรรมดาและเพิ่มค่าลดหย่อนเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยในรายละเอียดพรรครีพับลิกันต้องการให้การลดภาษีนั้นเป็นการลดแบบถาวร (จากเดิมที่ลดภาษีจนถึงปี 2025 สำหรับ the Tax Cuts and Jobs Act of 2017) แต่พรรคเดโมแครตมีท่าทีไม่สนับสนุนการลดภาษีเป็นการถาวร การออกนโยบายภาษีส่วนเพิ่มนี้จึงอาจพบอุปสรรคในการผ่านร่างกฎหมายในสภาคองเกรส
งบประมาณรายจ่ายภาครัฐ มีความเสี่ยงที่สภาคองเกรสจะไม่สามารถตกลงงบประมาณกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีได้ตามกำหนดเวลาจนนำไปสู่การปิดทำการของหน่วยงานรัฐฯ (government shutdown) ซึ่งรวมถึงประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ (US debt ceiling) ในปี 2019 ด้วย
พรรคเดโมแครตจะหาทางตรวจสอบ ปธน.ทรัมป์ มากขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อประเด็นการถอดถอนมีความเป็นไปได้ต่ำในทางปฏิบัติ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากมีแนวโน้มตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนประธานาธิบดี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี และการมีส่วนรู้เห็นกับรัสเซียเพื่อเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 อย่างไรก็ดี กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตสนับสนุนการถอดถอนเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด จากนั้นส่งเรื่องให้วุฒิสภาโหวตเห็นชอบอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ตราบใดที่พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาและไม่ให้ความร่วมมือ ความเสี่ยงการถอดถอน ปธน.ทรัมป์ จะต่ำและมีเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่โดยพรรคเดโมแครตจะเสนอญัตติถอดถอน ปธน.ทรัมป์ ก็ตาม
นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนยังคงมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกต่อเนื่องในปี 2019 การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ายังคงเป็นอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากไทยมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้ากับจีนโดยเฉพาะในหลายหมวดสินค้า เช่น พลาสติก ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฯลฯ
และหากเศรษฐกิจจีนเริ่มมีการชะลอตัวจะทำให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนไร้ข้อสรุป มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะดำเนินการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมและการตอบโต้จากจีนจะยังคงมีอยู่ ธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนจำเป็นต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาจมีการประชุม G20 นอกรอบระหว่าง ปธน.ทรัมป์ และ ปธน.สี จิ้นผิง ที่อาร์เจนตินาซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยกำหนดการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน.