“กสิกรไทย”คาดราคาเนื้อสัตว์ขยับขึ้น 2% หลังต้นทุนพุ่ง
คาดปี’64 มูลค่าการใช้จ่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ขยับขึ้น 2.0% จากราคาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ราคาขายปลีกเนื้อสัตว์สำคัญในประเทศยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาเนื้อไก่ที่ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ก็เริ่มไต่ระดับราคาจนล่าสุดส.ค. 2564 อยู่ที่ 72.50 บาท/กก. ในขณะที่ราคาเนื้อสุกรจะพบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ราคาขยับขึ้นมาแล้วถึง 3.3%YoY ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ทิศทางราคาเนื้อสัตว์น่าจะยืนตัวอยู่ในระดับสูง จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
ต้นทุนในการป้องกัน-ควบคุมโรคของธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์มีแนวโน้มขยับสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ จากค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันโรคระบาดในปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ ระบบป้องกันโรคและเตือนภัยโรคระบาดที่นำมาใช้ในการเลี้ยง ซึ่งได้ปรับเพิ่มขึ้นมาสักระยะแล้วหรือตั้งแต่ก่อนโควิด โดยเฉพาะโรคติดต่อในสุกร อาทิ ASF และ PRRS ในขณะเดียวกัน ยังมีต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในคน หลังจากเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อภายในโรงงาน[1] โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox)[2] ตลอดจนมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal)[3] เช่น ค่าใช้จ่ายในการสุ่มตรวจ/คัดแยกผู้ติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนทางเลือก ค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการ Bubble & Seal (ค่ารถรับส่งพนักงาน/ค่าจัดสถานที่พักอาศัย) ค่าใช้จ่ายในการจัดทำโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย ค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่กักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดูแลพนักงาน (ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ค่าจัดการขยะติดเชื้อ ฯลฯ) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องจ่ายเพื่อแลกกับการรักษากำลังการผลิตไว้ รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยด้านอาหารให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะไม่ได้บังคับก็ตาม
นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารที่ผันผวนและมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์[4] จากอุปสงค์ในตลาดผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีนที่ยังเติบโตสูง และตลาดสำคัญอย่างบราซิลและสหรัฐฯ ที่ต้องการนำไปผลิตเอทานอล ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มจะยืนระดับสูงต่อเนื่อง และผลจากเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่า ขณะที่ไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะหันมาใช้วัตถุดิบทางเลือกในประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวฟ่าง กากเมล็ดทานตะวัน กากถั่วสิลง กากมะพร้าว ฯลฯ แต่ก็ใช้ทดแทนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะวัตถุดิบทางเลือกบางชนิดไม่สามารถทดแทนคุณค่าทางสารอาหารได้ทั้งหมดจากวัตถุดิบหลักส่งผลให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารสัตว์[5] รวมถึงธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกเนื้อสัตว์เฉลี่ยทั้งปี 2564[6] น่าจะขยับขึ้นอีกประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งทิศทางราคาเนื้อสัตว์ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยในฝั่งผู้ผลิต ระดับผลกระทบจะแตกต่างไปตามความยืดหยุ่นของธุรกิจ โดยสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Factory Sandbox มากกว่า SMEs เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการนำร่องที่จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าเป็นสำคัญ ส่วนผลกระทบที่มาจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับสูงขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอำนาจต่อรองน้อย สต็อกวัตถุดิบมีไม่มาก มีข้อจำกัดด้านการหาวัตถุดิบทดแทน อาจได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่สูงกว่า ส่วนในฝั่งผู้บริโภค แน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับระดับราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ที่น่าจะขยับเพิ่มสูงขึ้นตาม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะเข้ามาดูแลในเรื่องของราคา จากการเป็นสินค้าควบคุม จึงทำให้ระดับราคาขายไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่ เพราะผู้ผลิตแบกรับไว้บางส่วน แต่ในระยะต่อไป หากต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตขยับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านการป้องกัน-ควมคุมโรค ตลอดจนราคาวัตถุดิบอาหารที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ก็มีโอกาสที่ระดับราคาจะขยับขึ้นได้อีก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การใช้จ่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทั้งปี 2564 ยังคงเติบโตได้ราว 2.0% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.5 แสนล้านบาท (เทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 6.3%)โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลของราคาเนื้อสัตว์ ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน่าจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคและซัพพลายเออร์สำคัญอย่าง ธุรกิจร้านอาหาร ยังคงได้รับผลกระทบและไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปีนี้จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลากว่าจะคลี่คลาย
ดังนั้น ความท้าทายสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์ ทั้งการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การใช้วัตถุดิบทดแทนในกรณีที่พอจะทำได้ การวางแผนใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและการผลิตสินค้าในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขัน ส่วนโจทย์สำคัญของธุรกิจในระยะต่อไป นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบหลักที่ผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้ว การปรับธุรกิจเข้าสู่มาตรการป้องกันความปลอดภัยในโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ในความถี่ที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ยังมีความจำเป็นต่อการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านอาหารให้กับคู่ค้า สอดรับไปกับมาตรฐานสินค้าที่มีแนวโน้มจะยกระดับขึ้น ทั้งตลาดประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะต่อไป
[1] ประเภทของโรงงานที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด 1) อาหาร 2) อิเล็คทรอนิกส์ 3) เครื่องนุ่งห่ม (ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม)
[2] Factory Sandbox เป็นแนวคิดการจัดการเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยมุ่งเป้าไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ ประกอบด้วย 1) เป็นโรงงานผลิตเพื่อการส่งออกที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 2) มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของโรงงาน (Factory Accommodation Isolation: FAI) ไม่ต่ำกว่า 5% 3) มีการทำ Bubble and Seal 4) มีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้ง ให้กับลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบ Self-ATK ทุก 7 วัน และ 5) มีการฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างที่ตรวจ Swab Test ทุกคน
[3] เป็นการควบคุมการระบาดของโรคในสถานประกอบการ หรือที่พักคนงาน ที่มีคนทํากิจกรรมร่วมกันเป็นประจํามากกว่า 500 คนขึ้นไป
[4] ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีการใช้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของปริมาณการใช้อาหารสัตว์ทั้งหมดของประเทศที่มีกว่า 20.7 ล้านตัน/ปี
[5] ค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนถึง 88% ของต้นทุนการผลิตรวม (ที่มา: สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย)
[6] ไม่รวมสัตว์น้ำ