สำรวจกำไรแบงก์ใหญ่โค้งสุดท้ายปี’61
แงะผลการดำเนินของแบงก์ใหญ่ “5+1” พบกำไรช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 มัดรวมกันถึง 1.42 แสนล้าน ห่างผลกำไรทั้งปีของปีก่อนแค่ 2.22 หมื่นล้าน เชื่อทุกแบงก์คงเร่งปล่อยกู้ หวังสร้างกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของภาคธุรกิจ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด การทยอยประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และรอบ 9 เดือนแรกของปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกับ “5+1 แบงก์ใหญ่” สะท้อนให้เห็นว่า…พวกเขายังคงยิ่งใหญ่และยืนยงอยู่ในวงจรระบบเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยตลอดกาล
หากนับรวมผลกำไรในรอบ 9 เดือนของ “5+1 แบงก์ใหญ่” เราจะมองเห็นภาพของอุตสาหกรรมการธนาคารไทยได้ชัดเจนขึ้น…
นำโด่งในแง่ตัวเลข ก็ต้องธนาคารไทยพาณิชย์ ที่แม้กำไรสุทธิรอบ 9 เดือนของปีนี้ จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ราว 2.9% ก็ยังเหนือกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ โดยมีกำไรสุทธิ 32,984 ล้านบาท และแม้ว่าพวกเขาจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ และการขยายฐานลูกค้าบนระบบดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ ภายใต้โครงการ SCB Transformation ช่วงก่อนหน้าที่ ก็ยังจะมีกำไรเฉพาะไตรมาส 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2561) ถึง 10,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% และหากย้อนไปดูที่รายได้รวมตลอด 9 เดือน ถือว่านำโด่งมากที่สุดเช่นกัน โดยมีรายได้อยู่ที่ 104,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5%
รองลงมาก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่สร้างผลงานในส่วนของกำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรก ตามมาติดๆ ที่ 31,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.76% หรือราว 2,795 ล้านบาท แม้ว่า…หากโฟกัสเฉพาะไตรมาส 3 แล้วพบว่า กำไรสุทธิของพวกเขาลดลงถึง 1,173 ล้านบาท หรือ 2.9% แต่หากดูที่ตัวเลขผลกำไรสุทธิ 9,744 ล้านบาท ก็นับว่าไม่น้อยสักเท่าใด
ขณะที่ผลกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนของธนาคารกรุงเทพ ตามมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 27,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.11% และถือว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผลการดำเนินงาน…รายได้เทียบกับกำไรสุทธิ “คงที่” มากสุดของกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ นั่นเพราะการทำรายได้ในรอบ 9 เดือนของพวกเขายังคงเติบโตที่ระดับ 10.3% คิดเป็นเม็ดเงินราว 92,338 ล้านบาท เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับการเติบโตของผลกำไรข้างต้น และที่สำคัญ ธนาคารกรุงเทพ เป็นแบงก์พาณิชย์ที่มียอดปล่อยสินเชื่อมากที่สุดถึงกว่า 2.02 ล้านล้านบาท
สำหรับธนาคารกรุงไทย แบงก์ซึ่งทำหน้าที่ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ให้กับหลายนโยบายของรัฐบาลในทุกยุคสมัย ได้รับอานิสงส์จากโครงการของรัฐ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ ด้วยจำนวนสินเชื่อ 1.98 แสนล้านบาทเศษ ทำให้กำไรสุทธิรอบ 9 เดือนของพวกเขา มีสัดส่วนการเติบโตสูงที่สุดถึง 26.7% หรือราว 22,333 ล้านบาท
ขณะที่ อันดับสุดท้ายของกลุ่ม 5 แบงก์ใหญ่ อย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น คือ เครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) มาผู้ถือใหญ่ ก็สร้างผลกำไรสุทธิที่โดดเด่นไม่ห่างอันดับที่ 4 มากนัก โดยมีกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 18,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,173 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% ส่วนสำคัญมาจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจในเมืองไทยนั่นเอง และหาก “โฟกัส” เฉพาะช่วงไตรมาส 3 กำไรสุทธิของพวกเขายังสูงถึงกว่า 6,000 ล้านบาท
และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ ธนาคารทหารไทย ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวจางๆ เรื่องการควบรวมกิจการกับธนาคารกรุงไทย ออกมาให้ได้ยินบ้าง…แต่เมื่อภาพความชัดเจนยังไม่ปรากฏเด่นชัด และขาดการยืนยันจากฝ่ายกำกับนโยบาย อย่าง…กระทรวงการคลัง ในฐานะ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” กระนั้น หากตัดการรับรู้รายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้น 65% ใน บลจ.ทหารไทย ให้กับกลุ่มอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) ออกไป ก็ยังทำให้ธนาคารแห่งนี้ มีผลกำไรสุทธิสูงถึง 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%
อย่างที่เห็นกันว่า “5+1 แบงก์ใหญ่” ของเมืองไทย มีกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 รวมกัน (32,984 + 31,426 + 27,229 + 22,333 + 18,700 + 9,900) มากถึง 142,572 ล้านบาท แต่ผลงานในภาพรวมของธนาคารแต่ละแห่งจะเข้าเป้าตามที่ตั้งกันไว้หรือไม่ต้องมาลุ้นในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี ซึ่งปกติแล้วจะถือเป็น “ไฮสปีด” เร่งสร้างรายได้และทำกำไรจากภาวะและเหตุปัจจัยหลายอย่าง…
ปกติก็จะเป็นช่วงสีสันแห่งเทศกาลรื่นเริง…ไหนจะสารพัดวันหยุด ไหนจะเทศกาลสำคัญๆ ห้วงรอยต่อ “ปลายฝนต้นหนาว” ตั้งแต่…งานบุญออกพรรษาในหลายพื้นที่ของไทย เทศกาลลอยกระทง คริสต์มาสต์ ยันเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เรียกว่าเป็นช่วงเวลา “ขาประจำ” ที่เร่งเร้าให้ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อหาสินค้าและเดินทางท่องเที่ยว เป็นล่ำเป็นสัน
ยิ่งภาคเอกชนต่างโหมเร่งจัดแคมเปญโปรโมชั่น กระตุ้น “ต่อมอยาก” ผ่านโปรเจ็กต์ “ลด แลก แจก แถม และชิงโชค” ยั่วยวนน้ำลาย ประกอบกับเป็นช่วงที่สินค้าการเกษตร สร้างรายได้เป็นกอบกำให้กับเกษตรกร สร้างกำลังซื้อจำนวนมหาศาสตามมา
พิเศษที่ปีนี้…จะเป็นห้วงท้ายๆ ของรัฐบาล คสช. ที่จำต้องจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ยิ่งเป็น “สิ่งเร้า” สร้างความคึกคักต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในเมืองไทย ได้เป็นอย่างดี ผลสะท้อนตามมาจากภาวะดังกล่าว คือ “ผลดี” ต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายคน พูดตรงกันทำนอง…รายได้จากค่าธรรมเนียมที่มีเคย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน การทำธุรกรรมทางการเงิน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ต่างหดหายไปกับการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยียุคใหม่ โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านระบบ QR Code และการทำธุรกรรมโอนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ
ประเมินกันว่า…รายได้จากค่าธรรมเนียมที่หายไปของ “5+1 แบงก์ใหญ่” บวกลบรวมกันน่าจะอยู่ที่ระดับ 50,000 ล้านบาท กระนั้น หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ในทิศทางคล้ายๆ กันว่า…กำไรสุทธิของ “5+1 แบงก์ใหญ่” ในปี 2561 นี้ คงไม่น้อยกว่าของปี 2560 ที่แบงก์กลุ่มนี้ เคยทำเอาไว้ถึง 164,840.08 ล้านบาท
ผลกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ 142,572 ล้านบาท เทียบกับกำไรทั้งปีของปีก่อนหน้านี้ 164,840 ล้านบาท ขาดไปเพียง 22,280 ล้านบาท ที่ทั้ง “5+1 แบงก์ใหญ่” จะต้องเร่งสร้างผลงานของตัวเอง อย่างน้อยก็ให้เข้าเป้าหมายที่วางไว้ช่วงต้นปี
ซึ่งก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรนัก กับศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อสร้างรายได้และกำไรส่วนต่างจากดอกเบี้ย
ทั้งนี้ รายได้ที่นำมาซึ่งผลกำไรของทุกธนาคาร ส่วนใหญ่ก็มาจากการปล่อยสินเชื่อนั่นเอง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประมาณการเอาไว้คร่าวๆ ว่า ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของทุกธนาคารรวมกันในปี 2561 ไม่น้อยกว่า 14-15 ล้านล้านบาท
ถึงอย่างไร ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่ม “5+1 แบงก์ใหญ่” ก็ยังสร้างกำไรหลัก มาจากผลต่างของ “ดอกเบี้ยรับ” (เงินกู้) กับ “ดอกเบี้ยจ่าย” (เงินฝาก) อยู่ดี!!!.