ขจัด 8 ปัญหา ฝ่าโควิด ชุบชีวิต SME ไทย
ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ต้องจำใจ ปิดกิจการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย
จากรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทยในปี 2564 ซึ่งทางหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะขยายตัว 1.3 % จากเดิมตั้งเป้าขยายตัวเศรษฐกิจไว้ที่ 4.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากติดลบ 6.1% ในปี 2563
ขณะเดียวกันสถานการณ์ภาพรวมของ เอสเอ็มอี ที่มีจำนวน 3.1 ล้านล้านราย ในปี 2564 ก็ยังคงน่ากังวลเช่นกัน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า GDP SMEs ปี 2564 จะติดลบที่ 4.8 %
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบเอสเอ็มอี พบว่า
8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ประกอบด้วย
1. ปัญหาด้านการตลาด 66.82%
2. ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92%
3. ปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74%
4. ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40%
5. ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิ 11.28%
6.ปัญหาด้านการจัดการ เช่น การขนส่ง บุคลากร 9.50%
7. ปัญหาด้านต้นทุน 8.16%
8. ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กสอ. บอกว่า จากผลสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์ดังกล่าว กสอ.จึงได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ประกอบด้วย
1. การจัดการโควิดภายในองค์กร โดยการแนะนำให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบริหารจัดการสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจอุตสาหกรรมให้ปลอดภัย โดยเน้นในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม ใน 9 หัวข้อวิชา ตั้งแต่ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัย การใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัด การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019
2. การตลาดภายใต้โควิด เน้นการดำเนินการตลาดและการขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplace ,การส่งเสริมกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ผ่านการฝึกอบรม eLearning 26 หลักสูตร เน้นการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเจาะลึกตลาดในอาเซียน และสนับสนุน เอสเอ็มอี ร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT
3. เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน โดยการใช้ระบบคลังสินค้าออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนเงินทุนด้วยเทคโนโลยี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ Google Sheet และ Line OA ซึ่งเป็นมาตรการช่วย SMEs ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
4. สร้างเครือข่ายพันธมิตร ผ่าน โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูปโครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid) โครงการช่างชุมชน โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่ช่างในชุมชน
5. ปรับโมเดลธุรกิจ ซึ่งจะเน้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ สร้างและพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม และยังได้ช่วยเสริมทักษะทางการเงิน ให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี
มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ กสอ.ได้ คาดว่าจะสามารถช่วยส่งเสริม และยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ 982 ผลิตภัณฑ์ 3,356 กิจการ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในปี 64 ได้กว่า 8,000 ล้านบาท