ผู้ว่ากนอ.ประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 62
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ตอบสนองเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ
โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) และ การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นี่คือยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2562 ของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเป็นภารกิจสำคัญที่ “สมจิณณ์ พิลึก” ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คนใหม่ ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นอกจากนั้น กนอ.ยังมีภารกิจที่จะต้องมุ่งพัฒนาการจัดสรรที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่อีกด้วย
และสำหรับการพัฒนานิคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนั้น นางสาวสมจิณณ์ บอกว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาไว้ดังนี้คือ 1.การส่งเสริมนิคมฯ ให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อต้องการให้แต่ละนิคมฯ มีการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ให้มีความทันสมัย เช่น การจัดทำเขตนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง
2.การพัฒนาเมกะโปรเจกต์ ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปารค์ใน จ.ระยอง โดยขณะนี้ในส่วนของท่าเรือฯมาบตาพุดได้ผ่านการเห็นชอบหลักการของโครงการฯ จากคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเมื่อประมาณเดือน กันยายน 2561ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนประมาณเดือนตุลาคม 2561 และได้เอกชนร่วมลงทุนประมาณเดือนมกราคม 2562 โดยกนอ.จะเร่งจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบให้ทันภายในปี 2568
ส่วนทางด้านนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปารค์ ปัจจุบันได้ทำการยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ในเดือนมิถุนายน 2561 แล้ว และคาดว่าใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ปี หรือช่วงต้นปี 2563 ซึ่งแผนต่อไป หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทางโครงการจะดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2563 คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี และเปิดดำเนินการได้ทันประมาณช่วงปลายปี 2565
3.การร่วมมือกับเอกชน ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. เพื่อผนึกกำลังขยายฐานการผลิตและลงทุนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยที่มีการพัฒนา โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเพิ่มไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี และ นิคมอุตสาหกรรมแพรกษา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมั่นใจว่าจะช่วยให้การลงทุนมีความคึกคักมากขึ้นแน่นอน
นางสาวสมจิณณ์ ยังบอกอีกว่า ในส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในชายแดน หรือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตาก จังหวัดสงขลา ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วได้เปิดให้บริการแล้วในพื้นที่เช่าทั้งหมด 660 ไร่ มีนักลงทุนสนใจเช่าพื้นที่ระยะที่ 1เต็มจำนวนแล้ว
สำหรับในการพัฒนาระยะที่ 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในธันวาคม 2561 และพร้อมเปิดให้บริการระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อหน่วงน้ำ และไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) จังหวัดภายในตุลาคมนี้
ด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสะเดาหลังมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว กนอ.ได้เร่งดำเนินโครงการในระยะที่ 1 บนเนื้อที่ประมาณ 629 ไร่แล้ว คาดว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในปีงบประมาณ 2562 นี้
รวมทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่อยู่ในจังหวัดสงขลา ก็เป็นอีกโครงการที่กนอ.มุ่งส่งเสริมการเพิ่มอุปสงค์การใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำ และปลายน้ำบนพื้นที่ทั้งหมด 1,248 ไร่ ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 95 % มีลูกค้าแจ้งความประสงค์ในการจองพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า
โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ กนอ.ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์และการตลาดทั้งในและต่างประเทศไว้แล้ว คาดว่าในปีถัดไปจะเป็นที่รู้จักและมีการเข้าลงทุนมากขึ้น โดยมีปัจจัยทางด้านสิทธิประโยชน์ที่กนอ.มอบให้อย่างเต็มที่
นางสาวสมจินณ์ บอกต่อว่า ด้านการพัฒนาในเรื่องระบบบริการที่จะช่วยให้การลงทุนมีความสะดวกรวดเร็วกนอ. ได้พัฒนาการให้บริการอนุมัติ-อนุญาต โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้งาน ในการให้บริการอนุมัติ-อนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร (e- Permission & Privilege) บริการยื่นคำขอ บริการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร การบรรจุ และการต่ออายุ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตลอดจนลดต้นทุน เวลา และขั้นตอนในการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการ โดยเปิด 2 กลุ่มบริการ ได้แก่ e-License อนุมัติ-อนุญาต ด้านภาษีอากรและที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร บริการยื่นคำขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ผ่านระบบไร้เอกสาร (e-Paperless) และ e-Signature อนุมัติ-อนุญาต คนต่างด้าวที่เป็นช่างฝีมือเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม สามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตเองได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานของ กนอ. ระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.60 – ก.ย.61) มียอดขาย พื้นที่ / เช่า จำนวน 1,377 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 28,042 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 3,446 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมคลังสินค้า 2. อุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 3. อุตสาหกรรมเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยาง หรือโลหะอื่น ๆ 4. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 5. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์
สำหรับ 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ส่วนในปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย / เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 108,470 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 88,166 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย / เช่า อีกจำนวน 20,304 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,977,973 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 4,438 ราย และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 464,667 คน
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ แนวโน้มการลงทุนใหม่ในช่วงปี2562 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญสนับสนุน อาทิ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกนอ.ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้ามาใช้พื้นที่นิคมฯทุกแห่ง”