รัฐบาลรับมือ! วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ไหวไหม?
หากสังคมไทย ไม่เชื่อในสิ่งที่ “ผู้นำประเทศ” บอก! การรับมือกับเชื้อไวรัสโควิดฯระลอกใหม่ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่ามีเงินในมือสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท จะยังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้หรือไม่? แล้วในสถานการณ์ที่อีกฝั่งมอง! “ยุบสภาฯ – หนีปัญหา” ยังจะเกิดขึ้นอีกไหม? ต้องอ่าน…
วันแรกของการประกาศใช้มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นจริงเป็นจัง นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
แม้ว่ารอบนี้…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่สวมหมวกเป็นทั้ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” และ “ผอ.ศบค.” จะไม่ประกาศ “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิวส์” อย่างที่หลายคนหวาดหวั่น…
นั่นเพราะ…มีประสบการณ์จริง! จากการใช้อำนาจรัฐ สั่ง “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิวส์” หวังหยุดยั้งการแพร่เชื้อฯในรอบแรก กระทั่ง เศรษฐกิจและธุรกิจพังพินาศยับเยิน! ผู้คนบ่นด่ากันทั่วเมือง…
กระนั้น เครือข่ายแพทย์ของ ศบค. ก็พยายาม “ชักแม่น้ำทั้ง 5” นำสู่เป้าหมายชัดเจน!
นั่นคือ…ทำให้คนไทย “ล็อกดาวน์-ตัวเอง” ด้วยการหยุดเดินทางและติดต่อกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อไวรัสโควิดฯ
ดูเหมือนสิ่งนี้…จะให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการที่รัฐบาลสั่ง “ล็อกดาวน์” โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี รวมถึง ศบค. ไม่ถูกด่าฟรี!
ถ้าคนไทย “ล็อกดาวน์-ตัวเอง” ในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ ได้จริง!…โอกาสที่เชื้อไวรัสโควิดฯ จะแพร่กระจายใน ระดับ “2 พันอัพต่อวัน” คงไม่เกิดขึ้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาจะทำได้ง่ายขึ้น…
ความเสี่ยงที่ คณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จะกลายเป็น “ผู้ติดเชื้อฯ” จากการทำงานหามรุ่งหามค่ำ…จนหลายคน “น้อยเนื้อต่ำใจ” จะคลายตัวลงทันที!
แม้ รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ประกาศทั้ง “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิวส์” แต่สั่งการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ทั่วประเทศ และการปรับมาตรการใหม่ นับแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นมานั้น…ก็ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อบางกลุ่มธุรกิจเช่นกัน?
เรื่องห้ามกินเหล้าในร้านอาหาร…พอเข้าใจได้
เรื่องที่ห้างสรรพสินค้าและสาขาธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน ปรับเวลาดำเนินการ “เปิด-ปิด” ก็พอเข้าใจได้
แม้กระทั่ง การปรับเวลา “เปิด-ปิด” ของร้านเซ่เว่น อีเลฟเว่น ในพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด…สังคมไทยก็น่าจะเข้าใจได้
แต่ที่…ไม่เข้าใจและรอฟังคำตอบจากรัฐบาล ก็คือ…รัฐบาลมีแผนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อการจะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯรอบ 3 และรอบต่อไปอย่างไร? แล้วจะทำอย่างไรกับ กลุ่มคน “อภิสิทธิชน” ที่เป็น “ต้นตอ” ของการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในรอบล่าสุด
สำคัญที่สุด! หลังจากนี้…รัฐบาลและกระทรวงการคลัง มีแผนและงบประมาณในการดูแลประชาชนและภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง?
ล่าสุด เป็น “โฆษกรัฐบาล” นายอนุชา บูรพชัยศรี ที่ออกมาระบุถึงแผนงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา และยืนยันว่า…พล.อ.ประยุทธ์ มีความมั่นใจว่ามาตรการที่ ศบค.ประกาศไปก่อนหน้านี้ จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้อย่างรวดเร็ว และไม่แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กระนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอีกครั้งในการร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อผลสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกนี้
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี ยังมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ
ภายในปี 2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 63 ล้านโดส เพราะรัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ล้านโดส สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ
รวมถึงวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน
ทำให้ตลอดเวลาที่เหลือของปีนี้ จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามที่วางแผนไว้ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดในระลอกนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า…รัฐบาลจะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีเงินเหลือเกือบ 3.8 แสนล้านบาท สำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แยกเป็น…
เงินจาก “พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” ราว 2.4 แสนล้านบาท
เงินจากงบกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 98,500 ล้านบาท
รวมถึงงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 36,800 ล้านบาท
“รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” โฆษกรัฐบาล ย้ำ!
ข้างต้นคือ…คำตอบจากฝั่งรัฐบาล
ส่วน ภาคธุรกิจและภาคประชาชน…จะเชื่อถือในสิ่งที่รัฐบาลบอกหรือไม่? นั่นก็เรื่องนึง…ถ้าประชาชนจะไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี บอก…ก็ไม่แปลก! เพราะมีหลายครั้งที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี บอกคนไทยไม่หมด! แม้กระทั่ง ไม่บอกความจริงในหลายๆ สถานการณ์ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ การไม่ดำเนินการใดๆ กับกลุ่มคน “อภิสิทธิ์ชน” ซึ่งมีทั้งคนในคณะรัฐมนตรี คนใกล้ชิดรัฐบาล คนมีสี นักธุรกิจเครือข่ายรัฐมนตรีบางคน? นั้น
เหล่านี้…คือ ความหวาดระแวงจากสังคมไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือของคนเป็น “ผู้นำประเทศ”
กับสถานการณ์ที่…พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลชนอาวุโส…จากหลากหลายแขนง วิเคราะห์สภาพการเมืองบนความเป็นจริงในปัจจุบัน นั่นคือ…
แรงเสียดทานจากภาวะเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และแรงกดดันทางการเมืองจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายกับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช้กับคนส่วนน้อย ในกลุ่มของตนเอง
รวมถึง…การปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ รอบแล้วรอบเล่า จนสังคมไทยไม่มั่นใจว่า…การแพร่ระบาดรอบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? รุนแรงแค่ไหน? และจากน้ำมือของเครือข่ายรัฐบาลในฝ่ายใด?
ทั้งหมดอาจนำไปสู่ภาวะการตัดสินใจ “ยุบสภาฯ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ 2565 แล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังนี้…
แม้จะมี “ลิ่วล้อรัฐบาล” ออกมายืนยัน ทำนอง…ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศนี้…ก็หาคนที่เหมาะสมมาบริหารประเทศในยามเกิดวิกฤตไวรัสโควิดฯไม่ได้…ก็ตาม
แต่ เสียงนี้…จากคนๆ นั้น? ดูจะไร้น้ำหนักและขาดความน่าเชื่อถือ นั่นเพราะ…พฤติกรรม “ไม่อยู่กับร่องรอย” ของเขาเอง…
ประเด็นคือ…แรงกดดันข้างต้น จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจทางการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์เอาไว้หรือไม่?
แผนการเดิม…ที่ คนโตในรัฐบาลและแกนหลักในพรรคแกนนำรัฐบาล คาดหวังจะสร้างเซอร์ไพร้ส์ “แลนด์สไลด์” หากจะมีการเลือกตั้งรอบใหม่ ถึงนาที…ยังจะมั่นใจกันอีกหรือไม่? เมื่อ “ต้นตอ” ของแพร่ระบาดไวรัสโควิดฯรอบที่ 3 มาจากคนในรัฐบาลเอง
ถ้าไม่มั่นใจ…การจะล้างไพ่ในทางการเมือง ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสถานการณ์นี้
แต่หากไม่ทำ…แรงกดดันจากทั่วทุกสารทิศที่จะถาโถมตามมา จะรุนแรงมากพอสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองหรือไม่? เป็นอะไรที่คนไทยอยากรู้!
เชื่อว่า…คำตอบทั้งมวล “สิ่งศักดิ์บนฟากฟ้า…มีคำตอบ!”.