วิศวะมหิดล – กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯเผยผลสำรวจการรู้เท่าทันสื่อ
โลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลก้าวไกลและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อวิถีชีวิต การทำงาน และธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลของคนไทย ปี 2563 – 2564
ชี้ประเด็นการเข้าถึงสื่อ การประเมินวิเคราะห์ และการสร้างอยู่ในระดับดี ห่วงกลุ่มผู้สูงอายุอาจถูกหลอกลวงซื้อสินค้าด้านสุขภาพ พร้อมเดินหน้าลงนามความร่วมมือ 5 องค์กร พัฒนายกระดับศักยภาพทางดิจิทัลของคนไทยสู่เป้าหมาย “ความเป็นพลเมืองดิจิตอล” (Digital Citizenship) อนาคตสร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นการประเมินด้วยตนเองและได้รับใบรับรองด้วยในโอกาสนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผนึกพลังความร่วมมือลงนาม MOU 5 องค์กร ประกอบด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลของคนไทย รองรับสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วยส่งเสริมการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายข้างต้น โดยทั้ง 5 องค์กรจะร่วมมือกันในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของประชาชนไทย พ.ศ. 2563 – 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 5,239 คน ผลสรุปพบว่า ประชาชนไทยมีคะแนนการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับดี (70%)
โดยการสำรวจแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงอยู่ในระดับดี (66%) การประเมินวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข่าวสารอยู่ในระดับดี (74%) และการสร้างสื่อด้วยความตระหนักถึงผลที่จะตามมาอยู่ในระดับดี (71%) ผลการสำรวจชี้ให้เห็นความสำคัญของการตระหนักรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ต่อไปอาจใช้วิธีให้ Influencer ที่มีอิทธิพลเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชนในการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์และสื่อดั้งเดิม (โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์) การเปิดช่องโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อเป็นอีกช่องทางในการถ่ายทอดเนื้อหาการรู้เท่าทันสื่อ การให้ข้อเท็จจริง และแนะนำการใช้อินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน รวมถึงแผนในอนาคตจะมีการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “รู้เท่าทันสื่อ” (Media Information and Digital Literacy Assessment : MIDL-A) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน มีการประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อด้วยตนเอง พร้อมรายงานผล และได้รับใบรับรอง (Certificate) เมื่อผ่านการประเมินตลอดจนการแนะนำสิ่งที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมจากผลการประเมิน
ดร.ธนากร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า จากผลสำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชน มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อสูงที่สุดอยู่ในระดับดี (72%) และมีพฤติกรรมการใช้สื่อหลากหลายช่องทาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าการใช้สื่อหลายช่องทาง มีแนวโน้มการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศดีขึ้น ดังนั้นแนวทางการพัฒนาควรยกระดับส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีการรู้เท่าทันสื่อเพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับดีมาก (80% ขึ้นไป) โดยการเสริมเนื้อหาการรู้เท่าทันสื่อในหลักสูตรการจัดกิจกรรมส่งเสริม อาทิ กิจกรรมฝึกฝนทักษะการใช้สื่อ การประกวดผลิตสื่อ โดยการศึกษานี้ จะเน้นเรื่องภัยสื่อลามก การบูลลี่ การหลอกลวง และการละเมิดข้อมูลนำข้อมูลคนอื่นมาใช้ ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนจะต้องเข้าใจข้อมูลและใช้สติในการเสพข้อมูล ไม่หลงเชื่อเฟคนิวส์ ส่วนปัญหาของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่พบ คือ ค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต จึงควรสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตจากทั้งภาครัฐและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ในกลุ่มคนวัยทำงาน มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับดี (64 -70%) ส่วนใหญ่พบปัญหา
การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว จึงควรส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับบุคลากรในหน่วยงาน ส่งเสริมให้เข้าใช้เว็บไซต์และแอปพลิเคชันรู้เท่าทันสื่อ จัดการอบรมให้ความรู้โดยหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาครัฐให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่นิติบุคคลหรือบริษัทที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้
ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีคะแนนคะแนนการรู้เท่าทันสื่อต่ำที่สุด อยู่ในระดับพื้นฐาน (63%) มีพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์ Facebook และ Line ในการรับชมสื่อ ติดต่อสื่อสาร และค้นหาข้อมูลออนไลน์เป็นหลัก ช่องทางดังกล่าวเป็นแหล่งข้อมูลที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด หลงเชื่อ ไปจนถึงการถูกหลอกลวงได้ โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาด้านสุขภาพ เช่น กินยาหรือสมุนไพรนี้แล้วจะหายจากโรค ทั้งที่ไม่เป็นจริง หรือการถูกหลอกลวงขายสินค้า ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุยังขาดประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้เชี่ยวชาญและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ เช่น เริ่มจากส่งเสริมภายในชุมชน โดยการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้ต่อให้ผู้สูงอายุในชุมชน และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างเยาวชนและผู้สูงอายุ เน้นให้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ผ่านสื่อดั้งเดิมด้วยเนื้อหาที่ผู้สูงอายุสนใจ เพื่อป้องกันการหลงเชื่อ ถูกหลอกลวงจากสื่อออนไลน์
ในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อข้างต้นเกิดประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อต่างๆ จนเกิดการพัฒนาพร้อมก้าวเข้าสู่เป้าหมาย “ความเป็นพลเมืองดิจิตอล” (Digital Citizenship) อย่างภาคภูมิได้นั้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อดังกล่าว รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง