แบงก์รัฐ-เอกชนสบช่องนักเที่ยวจีนบูมรอบใหม่
ความเคลื่อนในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น “ปลายฝนต้นหนาว” นับแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นต้นไป ทำท่าว่าจะกลับคึกคักอีกครั้งและรอบนี้ดูจะมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้…เกิดกระแสข่าวร้อนๆ กรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนบางกลุ่ม “บอยคอต” ประกาศยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวในไทย เหตุเพราะคนโตบางคน? ในรัฐบาลไทย “พูดไม่ทันคิด!”
ล่าสุด แกนนำกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชน จาก 5 เมืองใหญ่สำคัญของจีน ได้แก่ เมืองปักกิ่ง ฝูเจี้ยน หูหนาน ซีอาน และเสินเจิ้น ภายใต้การนำของ นายไช้ เซียง ซิง นายกสมาคมซิซือ เมืองฝูเจี้ยน ยืนยันหนักแน่นว่า จากนี้พวกเขาพร้อมประสานความร่วมมือกับทางการไทยและองค์กรด้านการท่องเที่ยวของไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะจาก 5 เมืองหลักนี้ กับเป้าหมายใหม่ที่วางไว้ นั่นคือ ส่งเสริมและผลักดันให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากยิ่งๆ ขึ้น
จากเดิมที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเที่ยวยังประเทศไทยราว 10 คน มีค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทต่อหัวต่อครั้ง จะขยับไปเป็น 15 คน และตั้งเป้าค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายประมาณ มากกว่า 50,000 – 60,000 บาทต่อหัวต่อครั้ง
” คนจีนคิดกับคนไทยเสมือนว่าเป็นพี่น้องกัน กรณีเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ทางการจีนรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงในทางลึกหมดแล้ว รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดมาจากอะไร ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและคนจีนก็ไม่ได้ติดใจอะไร จึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันเรื่อยไป และสมาคมท่องเที่ยวใน 5 เมืองใหญ่ก็พร้อมจะช่วยผลักดันและดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายปีหน้านี้ “ นายไช้ เซียง ซิง ย้ำ
เรื่องอย่างนี้ มีหรือที่รัฐบาลไทยจะไม่ “เด้งรับ ” ภาพฝันที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด! กับรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มนี้ เพราะมันหมายถึงรายได้สูงสุดราว 8 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว!!!
นั่นเอง จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ คสช. สั่งกำชับไปยังผู้บริหารธนาคารของรัฐและธนาคารที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น…ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) และธนาคารกรุงไทย ให้เร่งช่วยเหลือและเติมเต็มโอกาสด้านการท่องเที่ยวรอบใหม่จากจีนและนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ
ภารกิจสำคัญในครั้งนี้ คือ เร่งปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น…ธุรกิจที่พัก หรือ โรงแรม หรือ สถานบริการ หรือ สถานที่ตากอากาศ ธุรกิจภัตตาคาร หรือ ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจที่สนับสนุน และ/หรือ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้ง การขนส่งทางบก ทางน้ำ
ธุรกิจซักอบรีดการส่งวัตถุดิบ ให้ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม ธุรกิจที่มีการ เก็บรักษา สต็อกสินค้าหรือวัตถุดิบ ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำไปผลิตหรือ จำหน่ายให้กับธุรกิจท่องเที่ยว หรือ ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือนักท่องเที่ยว
ธุรกิจเกี่ยวกับการดำเนินการ ยกระดับ สร้างมาตรฐาน ความปลอดภัย ธุรกิจผลิต หรือ จำหน่ายสินค้า หรือ ของที่ระลึก ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ความงาม สมุนไพร สปา นวดแผนไทย ธุรกิจกีฬา สันทนาการ และธุรกิจการจัดงานนิทรรศการ งานแสดง งานออกร้าน การโฆษณาเผยแพร่ หรือ การดำเนินงานอื่นใด โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อชักนำ หรือส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยว
ธนาคารเอสเอ็มอีดีแบงก์ ซึ่งนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ บอกว่า…ธนาคารฯได้ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน เอาไว้ถึง 7,500 ล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท แต่หากเป็นกิจการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ มีหนังสือรับรอง จากหน่วยงานภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุน จะได้รับสินเชื่อเพิ่มได้ถึง 5 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล จะสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหนี้สินค้างจ่ายเดิมอยู่ เงินกู้ใหม่เมื่อรวมกับสินเชื่อเดิมจะต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท
สำหรับอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลากู้ยืมนั้น นายมงคล ระบุว่า หากลูกค้าใช้หลักประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี แต่หากไม่มีหลักประกันของ บสย. ก็จะบวกเพิ่มอีกนิดหน่อย แต่ยืนยันว่าไม่สูงมากนัก
ฟากของธนาคารกรุงไทย ก็เตรียมพร้อมสำหรับโครงการนี้เช่นกัน โดยนายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารฯได้ตั้งวงเงินสินเชื่อเพื่อการนี้เอาไว้ราว 2,000 ล้านบาท สำหรับปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 4-5%ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี
” เรามองว่าธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการผลักดันระบบเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในยามที่การส่งออกและเสาหลักเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เริ่มมีปัญหา จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ” นายปฏิเวช ย้ำและว่า แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะขึ้นลงตามฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยพบปัญหาหนี้เสียมากนัก ทั้งนี้ ธนาคารฯพร้อมจะเข้ามาดูแลด้านสินเชื่อกับลูกค้าเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจัดทำระบบบัญชีเดียว กำหนดวงเงินกู้ตั้งแต่…วงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท จนถึงหลักแสนบาท,วงเงิน 20 ล้านบาท, 50 ล้านบาท และไม่เกินวงเงิน 100 ล้านบาท “
ขณะที่ฝั่งของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น…ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ แม้จะไม่ได้ให้น้ำหนักกับสินเชื่อเอสเอ็มอีเพื่อการท่องเที่ยวมากเหมือนกับธนาคารของรัฐ แต่พวกเขาก็จับจ้องตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้ และพยายามจะรุกคืบไปข้างหน้าเช่นกัน
ธนาคารกรุงเทพ เน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม “สินเชื่อบัวหลวงเพื่อรายย่อย” โดยเฉพาะสินเชื่อภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. วางเป้าหมายเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินเชื่อ พร้อมเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจไม่พลาดโอกาสในการขยายกิจการ รวมถึงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการแก้ไขปัญหาทางการเงินและสภาพคล่องให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เน้นการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการขนาดใหญ่ โดยจะพิจารณาจากลักษณะโครงสร้างทางการเงิน ผลของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และลักษณะของแต่ละประเภทธุรกิจ
กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจโรงปิโตรเคมี โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ธุรกิจโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ แต่กระนั้น ก็ยังมีลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวอยู่รวมด้วย เพียงแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนนั้น อาจยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของธนาคารแห่งนี้…ในสถานการณ์นี้เท่านั้น
ด้านธนาคารกสิกรไทย แม้จะไม่พูดชัดๆ ถึงโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว แต่การที่ธนาคารฯร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนโครงการสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ทั้งที่ทำการขายผ่านตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนนั้น ชัดเจนว่า…ลูกค้าในกลุ่มนั้น ย่อมรวมถึงผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องไปเต็มๆ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย บอกว่า ธนาคารฯพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0 โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การต่อยอดธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการขยายตลาดออนไลน์ ได้พบกับลูกค้ารายย่อยที่ใช้งาน K PLUS กว่า 9 ล้านราย ผ่าน K PLUS Market
ทั้งนี้ ธนาคารฯพร้อมทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการติดต่อซื้อขายรวบรวมสินค้าหรือบริการจากร้านค้า บริษัทในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดการซื้อขายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลา พร้อมนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ควบคู่การใช้ Machine Learning นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนลูกค้ารายย่อย จะได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของลูกค้า
2.สนับสนุนแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน ด้วยการสร้างโมเดลวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าทั้งพฤติกรรมด้านการเงินและความต้องการ พร้อมนำเสนอสินเชื่อออนไลน์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านเมนู Life PLUS บนแอป K PLUS ตลอดจนแนะนำบริการทางด้านการเงินและสินเชื่อต่าง ๆ หรือช่องทางการชำระเงินต่าง ๆ ของธนาคารที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน.
3.สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ทั้งในและนอกประเทศให้แข็งแกร่ง ผ่านทั้งช่องทางที่เป็น Offline และช่องทาง Online และการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการค้า การลงทุน และการจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน รวมถึงสนับสนุนข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
และ 4. การช่องทางเสริมจากการทำตลาดออนไลน์ กล่าวคือ ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ สามารถจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าใน AEC+3 ที่มีผู้ซื้อมากกว่า 1,000 ล้านคน อันเป็นผลมาจากความก้าวของเทคโนโยลีของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Technology) และความพร้อมของระบบ Logistics ได้เปิดโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีไทยอย่างไร้พรมแดน ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม AEC+3 กว่า 16 สาขา และธนาคารพันธมิตรกว่า 70 แห่งทั่วภูมิภาค
ถึงตรงนี้ จึงน่าสนใจว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะยอมให้ธนาคารของรัฐและธนาคารที่รัฐถือหุ้นใหญ่ อย่าง…เอสเอ็มอีดีแบงก์และธนาคารกรุงไทย พากัน “หยิบชิ้นปลามัน” จากการกลับมา “บูม” ของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่ไม่ได้มีเพียงนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะกลับมาใหม่และครั้งนี้…มากันมากกว่าเก่าเท่านั้น
หากแต่การก้าวสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ที่จัดว่า “พีค” สุดๆ ในช่วง “ปลายฝนต้นหนาว” จนถึงห้วง “ฤดูหนาว” ของไทย ซึ่งมากและเต็มไปด้วยสีสัน และกิจกรรมสันทนาการด้านการท่องเที่ยว ที่สุดแสนจะตื่นตาตื่นใจมากมายและกระจายไปทั่วประเทศ กระทั่ง ดึงดูเอานักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ทั้งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียทั้งทวีป โดยเฉพาะจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งคนทางนั้น…จำต้องหนีภัยหนาวสุดขั้วมายังดินแดนที่อบอุ่นกว่า มายังประเทศไทย
สร้างกำลังซื้อและก่อเกิดเป็นรายได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย ถึงขนาดมีข้อมูลสถิติที่ระบุตัวเลขเมื่อปีที่แล้วว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันสูงถึง 35 ล้านคน และมีวงเงินใช้จ่ายรวมเกือบ 2.8 ล้านล้านบาท
แน่นอนว่าปีนี้และปีหน้า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และวงเงินที่จะหมุนสะพัดในประเทศไทย ย่อมต้องมีสูงกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย?
ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น…จะมองข้ามและละทิ้งโอกาสทองครั้งนี้ กระนั้นหรือ???.