โรดแม็พ ETA สู่ความมั่งคั่ง

ภายหลังจากที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษานับแต่วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น แม้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเชิงสาธารณะ (พับลิกเฮียริ่ง) จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในหลายๆ เวที
ทว่าดูเหมือนเงื่อนปมที่บรรจุอยู่ในพระราชกำหนดดังกล่าว อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก ทันทีที่เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาของการผ่อนปรน ขณะที่หลายฝ่าย เริ่มมีเสียงท้วงติงกับกฎระเบียบที่เข้มงวดและอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย กับกำไรที่ได้จากการซื้อขายเหรียญดิจิทัล (แคปปิตอลเกน) สูงถึงร้อยละ 15 สิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการเงินยุคดิจิทัล ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ ไม่ต้องการให้องค์กรหนึ่งองค์กรใด โดยเฉพาะองค์กรที่เกิดจาก “อำนาจรัฐ” ได้เข้ามาครอบงำ จนอาจกลายเป็นปัญหาตามมาอย่างรุนแรง
กระนั้น ฟังจากน้ำเสียงของ “เลขาฯ ก.ล.ต.” อย่าง นายรพี สุจริตกุล แล้ว ดูเหมือนปัญหาใหญ่นี้ ถูกโยนให้เป็นภาระของกรมสรรพากรไปแล้ว กับคำพูดที่ นายรพี บอกว่า…“การซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่กระทำผ่านตัวกลาง หรือ exchange ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. จะได้รับยกเว้นภาษีกำไรส่วนต่างราคาหุ้น (capital gain tax) เช่นเดียวกับที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ” ก่อนจะทิ้งเงื่อนปมเอาไว้…“ในเรื่องของภาษี เราคงต้องคุยกับกรมสรรพากรอีกที เพราะเป็นนโยบายของเขา ซึ่งเราก็พยายามชี้ให้เห็นว่าหากกฎเกณฑ์มีความเข้มงวดมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ลงทุนเปลี่ยนไปลงทุนต่างประเทศแทน และคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้น อาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร”

เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารหนุ่มของ บริษัท อีทีเอ มันนี่ จำกัด ผู้รับผิดชอบในการออกและบริหารจัดการเหรียญสกุลเงินดิจิทัล “อีทีเอ คอยน์” ซึ่งนายชิตธาวัฒน์ บูรณะประเสริฐสุข กรรมการผู้จัดการฯ บอกว่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ชีวิตจริงของการทำธุรกรรมในโลกที่เกี่ยวกับ “คริปโตเคอเรนซี่” (เงินดิจิทัล) ก็ต้องเดินไปข้างหน้า หลังจากที่ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มมีผลบังคับใช้ และบริษัท อีทีเอ มันนี่ จะยังคงร่วมมือกับสมาคมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว (อีทีเอ) ที่มีสมาชิกทั้งในรูปของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กว่า 500 สมาชิก ทำการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ “คริปโตเคอเรนซี่” และการตลาดออนไลน์ (อีคอมเมิร์ช) ตามแผนงานและโรดแม็พต่อไป
“ที่ผ่านมาคนไทยต้องสูญเสียโอกาสในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “คริปโตเคอเรนซี่” ทั้งที่โลกใบนี้ รู้จักบิทคอยน์มาตั้งแต่ปี 2009 แม้คนจะรู้จักกันจริงจังในอีก 5-6 ปีต่อมา แต่สำหรับคนไทยแล้วยังรู้น้อยมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องให้การอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจ และนักลงทุนในกลุ่มนี้ ซึ่งคงไม่เฉพาะกับผู้ที่ถือเหรียญอีทีคอยน์เท่านั้น”
นายชิตธาวัฒน์ บอกด้วยว่า บริษัทฯร่วมกับสมาคมอีทีเอ จัดสร้างโครงการอบรมให้ความรู้ในโครงการ “๙ สู่…ไทยแลนด์ ๔.๐ กับ ๘๙ หลักสูตร ทำดีเพื่อพ่อ” ด้วยหวังจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการทำการตลาดและการค้าบนโลกออนไลน์ให้กับผู้สนใจและผู้ประกอบการทั่วไป เป้าหมายคือเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการทำธุรกิจบนการตลาดออนไลน์ (อีคอมเมิร์ช) แบบยั่งยืนครบ 1 ล้านธุรกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าสิ่งนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ
สำหรับเหรียญอีทีเอคอยน์นั้น เขาบอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างและเชื่อมต่อเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของเหรียญอีทีเอคอยน์มีความเข้มแข็งและเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหรียญอีทีเอคอยน์ได้ถูกสร้างขึ้นมาในระบบของบล็อกเชน (Blockchain) จากแพลตฟอร์มของ waves จึงสามารถออกเหรียญและนำไปเทรดได้ทันที ทั้งในกระดาษซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลหลักของโลก อย่าง ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สเตอร์ลิง ยูโรดอลลาร์ เยน และอีกหลายๆ สกุลเงิน รวมถึงยังนำไปซื้อขายบนกระดาษกับเหรียญดิจิทัลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บิทคอยน์ อีเทอเรียม เวฟส์ ฯลฯ
“ตามโรดแม็พของบริษัทฯ เรามีแผนที่จะพัฒนาระบบนิเวศน์ให้เกิดความแข็งแกร่งและมีเครือข่ายกว้างไกล เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และผู้สนใจทั่วไป โดยการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ ในส่วนของเราเอง ตอนนี้ เราได้สร้างช่องทางการใช้เหรียญอีทีเอคอย์ ตั้งแต่…การเทรด (ซื้อขายแลกเปลี่ยนบนกระดาน), การนำไปซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ, การนำไป stakeholder (ผู้ถือผลประโยชน์ร่วมทางธุรกิจ), การโอนเงินไปต่างประเทศผ่านระบบ ETA MONEY EXCHANGE และล่าสุด บริษัทฯกำลังพัฒนาระบบที่ก้าวหน้ามากๆ นั่นคือ การให้ผู้ถือเหรียญอีทีเอคอยน์สามารถนำไปฝาก (ออม) ผ่าน ETA Node Mining, กู้เงินผ่าน ETA Smart Contract Loan ในสัดส่วนร้อยละ 90 ของเหรียญที่ฝากไว้ และ จัดทำ ETA Exchange Card เพื่อให้ผู้ที่ขายเหรียญอีทีเอคอยน์บนกระดานฯ สามารถกดเงินสดออกมาใช้ได้ทันที” นายชิตธาวัฒน์ ย้ำ
สำหรับความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจต่างประเทศนั้น เขาบอกว่า ณ ขณะนี้ มีโครงการใหม่ที่กำลังจะเปิดดำเนินการตามโรดแม็พ นั่นคือ 1.ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 2.จักรยานอัจฉริยะ และ 3.ที่จอดรถอัจฉริยะ ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจนี้ ได้รับความร่วมมือจากนักลงทุนจีนที่มีโนวฮาวน์และเงินทุน เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีบริษัทฯเป็นพันธมิตร โดยจะเปิดตัวทั้ง 3 ธุรกิจในเร็วๆ นี้ ซึ่งในแง่ของนักลงทุนจีนก็ต้องถือเหรียญอีทีเอคอยน์ เหมือนกับเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร, คอนโดมีเนียม และเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ ที่ต้องการนำธุรกิจทั้ง 3 ตัวไปติดตั้งและให้บริการแก่สมาชิกของตน รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้า อัตโนมัติ การเช่าจักรยานอัจฉริยะ และ เช่าที่จอดรถอัจฉริยะ ซึ่งทั้งหมดจะต้องเปิดกระเป๋าเงินและมีเหรียญอีทีเอคอยน์อยู่ในกระเป๋าเงิน นั่นจะทำให้การซื้อหาและจัดเก็บเหรียญอีทีเอคอยน์เกิดขึ้นและขยายผลเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับราคาของเหรียญนี้
นายชิตธาวัฒน์ ยังพูดถึงโรดแม๊พของบริษัท อีทีเอ มันนี่ ด้วยว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ บริษัทฯจะเปิดระบบแลกเงิน ผ่าน www.moneyeta.com เพื่อเปิดช่องขายสินค้าออนไลน์กลุ่ม Line “ETA Coin Marketplace” จากนั้น 4 สิงหาคมจะเปิดช่องขายสินค้าออนไลน์ด้วยเหรียญอีทีเอคอยน์ ผ่าน www.shoppingeta.com และเปิดระบบ Proof of Stake ในวันเดียวกัน และในวันที่ 4 กันยายน บริษัทฯจะนำเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ ด้วยการจ่ายเงินแบบ “สมาร์ท วอลเลท” และกิจกรรมสุดท้ายในรอบปีนี้ คือ วันที่ 4 ธันวาคม จะดำเนินการจัดทำโครงการสมาร์ท ซิตี้ ด้วยการนำจักรยานเช่าด้วยการจ่ายแบบ “สมาร์ท วอลเลท”, ตู้เอทีเอ็มสำหรับการกดคริปโต เคอเรนซี่, บัตรกดเงินคริปโต เคอเรนซี่ แบบ Virtual Card รวมถึงการนำแทนชาร์ตโทรศัพท์ Power bank มาติดตั้งในร้านอาหาร และทำการชำระผ่านระบบ “สมาร์ท วอลเลท”
จากนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ภารกิจของบริษัท อีทีเอ มันนี่ ต่อการจะผลักดันให้เหรียญอีทีเอคอยน์ ก้าวไปถึงฝั่งฝัน ด้วยการเป็นหนึ่งสกุลเงินดิจิทัลหลักของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศและในภูมิภาคนี้ ได้อย่างที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้หรือไม่? น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว.