‘ทรัมป์’ มีท่าทีถอดใจครั้งแรก

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ย้ำว่าเขาจะไม่ล็อกดาวน์สหรัฐฯจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ระบุว่า “เวลาจะบอกเอง” หากรัฐบาลอื่นเข้าทำงานในเดือนม.ค. ถือเป็นท่าทีที่ดูจะเป็นการยอมรับครั้งแรกว่าโจ ไบเดนมีชัยชนะเหนือเขา
นับเป็นการปรากฎตัวต่อสาธารณะครั้งแรกของทรัมป์ หลังจากไบเดนได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 คะแนน ทำให้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยทรัมป์ระบุว่า เขาคาดการณ์ว่า วัคซีนโควิด-19 จะมีพร้อมใช้สำหรับประชาชนโดยทั่วไปเร็วที่สุดคือเดือนเม.ย.ปีหน้า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงทุบสถิติ
ในการแถลงข่าวที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาว ทรัมป์ยังดูมีท่าทียอมรับเป็นครั้งแรกถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นทีมบริหารจากไบเดน แม้ว่าเขาจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และไม่ได้เอ่ยชื่อคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตคนนี้ออกมาก็ตาม
“ เราจะไม่ล็อกดาวน์ ผมจะไม่ไปทางนั้น รัฐบาลชุดนี้จะไม่เลือกมาตรการล็อกดาวน์” ทรัมป์ระบุ “ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ใครจะรู้ว่า รัฐบาลใหม่จะเป็นใคร ผมว่าเวลาจะบอกเอง”
นับตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ทรัมป์ยังคงกล่าวหาโดยไร้หลักฐานว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แต่ขณะที่เขายังคงกล่าวหาเช่นนั้นบนทวิตเตอร์ เขากลับไม่ได้กล่าวซ้ำในการปรากฎตัวต่อสาธารณะในวันที่ 13 พ.ย.
ครั้งสุดท้ายที่ทรัมป์พูด คือในห้องแถลงข่าวของทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งสองวัน เขาระบุโดยไม่มีหลักฐานว่า หากมีการนับคะแนนเสียงที่ถูกกฎหมาย เขาจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างง่ายดาย
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ไบเดนมีชัยชนะทิ้งห่างทรัมป์หลังเขามีชัยในรัฐจอร์เจีย ทำให้ความหวังของทรัมป์ในการยื่นฟ้องต่อศาลให้มีการนับคะแนนใหม่ริบหรี่ลง
โดยทรัมป์ระบุว่า เขาคาดการณ์ว่าจะมีการขออำนาจการใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์โดยเร็วที่สุด ขณะที่ไฟเซอร์คาดการณ์ว่า จะรายงานข้อมูลความปลอดภัยในสัปดาห์หน้า และยื่นขอใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีน
ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นหลังจากทรัมป์ได้รับทราบสถานการณ์ล่าสุดของ การเร่งดำเนินการของทีมบริหารเพื่อการพัฒนาวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด
คำวิจารณ์การรับมือของรัฐบาลทรัมป์ที่มีต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 235,000 ราย กลายเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง