แรงงานประท้วงในจีน
ในมณฑลกวางตุ้ง แรงงานชาวจีนที่ประสบปัญหาไม่ได้รับเงินค่าจ้างรวมตัวกันประท้วงอย่างโกรธเกรี้ยว
โดยแรงงานในโรงงานและบริษัทก่อสร้างจำนวนมากรวมกลุ่มกันเพื่อชุมนุมประท้วงไปตามถนนหลายสายในมณฑลกวางตุ้ง โน้มน้าวให้กลุ่มครูโรงเรียนอนุบาล แคดดี้สนามกอล์ฟ พนักงานบาร์ให้มีอารมณ์ร่วมด้วย มีกรณีหนึ่งที่พนักงานทำความสะอาดทิ้งขยะในตึกของทางการเพื่อเป็นการประท้วงที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
เศรษฐกิจของจีนชะลอตัว หลังจากมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดดมานานกว่า 20 ปี ทำให้หลายบริษัทประสบกับปัญหาการเงินถึงขนาดล้มละลาย ทำให้มีแรงงานประท้วงในหลายพื้นที่ของจีน โดยมีกรณีที่เกิดขึ้นถึง 2,044 ครั้งในปี 2559 นี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมคือ 1,379 กรณีในปี 2557
และกรณีที่เข้มข้นดุเดือดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งจัดว่าเป็น โรงงานของโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งโรงงานผู้ผลิตของเล่น รองเท้า เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ ที่ส่งออกไปทั่วโลก
อ้างอิงจากข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่รวบรวมโดย China Labour Bullettin ในปี 2558 มณฑลกวางตุ้งมีการประท้วงมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน โดยในปีนี้ ในเดือนส.ค. เพียงเดือนเดียว มีการประท้วงถึง 31 ครั้ง จากรายงานของนักเคลื่อนไหวประจำฮ่องกง
นายวู กุยจิน นักเคลื่อนไหวด้านปัญหาแรงงานกล่าวกับสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียว่า มีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ ในช่วงวันตรุษจีน แรงงานกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อกลับมาก็พบว่าโรงงานถูกติดป้ายว่าล้มละลายที่ประตูโรงงานแล้ว ค่าจ้างก็ได้ไม่ครบจำนวน และเจ้าของกิจการก็หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอย ” นายวูกล่าวในการประท้วงรอบใหม่กับโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค.
เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่ซ้ำรอยเดิมกับเดือนก.ย. ที่มีแรงงาน 130 คน เข้าไปนั่งประท้วงในภัตตาคาร ‘จงชาน’ ในเรื่องค่าแรง หลังจากนายจ้างหลบหนีไป มีความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการปิดถนน หลายคนจะกระโดดจากหลังคาตึก และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทั้งนี้ ผู้คนที่มาประท้วงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางการเมือง และมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ เช่น ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือนายจ้างมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหานี้เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน ทั้งผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทก่อสร้าง ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ โทรศัพท์มือถือ เหล็ก ของเล่น เฟอร์นิเจอร์
นายหนี ฮง ปิง นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานอีกคนกล่าวว่า แรงงานจำนวนมากถูกปลดออกจากงานในมณฑลกวางตุ้งในช่วงอายุ 40 ปีกว่า “ พวกเขาอายุเกือบถึงวัยเกษียณแล้ว แต่กลับไม่ได้เงินอะไรเลย ไม่มีประกัน และมีเงินออมเพียงน้อยนิด ” เขากล่าว
มณฑลกวางตุ้งของจีนกำลังประสบกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากโรงงานย้ายไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีค่าแรงถูกกว่า หรือไม่ก็ย้ายไปประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก เช่น กัมพูชา.