โควิด-19 ฉุดค้าปลีกญี่ปุ่นดิ่งต่อเนื่อง
โตเกียว (รอยเตอร์) – ตัวเลขการค้าปลีกในญี่ปุ่นดิ่งร่วงลงเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนพ.ค. จากการระบาดของไวรัสโคโรนาและมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการคาดการณ์การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ดีมานด์ที่เป็นขาลงก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกจะติดหล่มอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยนานกว่าที่คาดการณ์ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น
โดยการค้าปลีกร่วงลง 12.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การใช้จ่ายกับสินค้าชิ้นใหญ่ลดฮวบลงทั้ง รถยนต์ รวมถึงเสื้อผ้าและสินค้าทั่วไป จากรายงานของกระทรวงการค้าเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.
ขณะที่ในเดือนเม.ย.ตัวเลขลดลง 13.9% เป็นตัวเลขที่ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2541 เป็นต้นมา และย่ำแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ในโพลของรอยเตอร์คือ 11.6%
รัฐบาลหวังว่า การฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าเกินครึ่งของเศรษฐกิจประเทศ จะช่วยหนุนการเติบโตในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวนกับแนวโน้มดีมานด์ทั่วโลกที่เป็นความเสี่ยงทำให้การฟื้นตัวล่าช้า
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ยอดขายค้าปลีกในเดือนพ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสามเดือน ทำให้ตัวเลขการปรับตัวตามฤดูกาลอยู่ที่ 2.1% หลังจากเคยร่วงลง 9.9% ในเดือนเม.ย.
“ แม้การบริโภคจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ยังคงมีคำเตือนให้เฝ้าระวังการติดเชื้อ และลูกค้าชะลอการซื้อ” ทาคุมิ สึโนดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ Shinkin Central Bank Research ให้ความเห็น
นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า เงินเยียวยาที่จ่ายให้ประชาชน 1 แสนเยนต่อคนเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจช่วยให้มีการใช้จ่ายพุ่งสูงขึ้น หลังจากยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเดือนพ.ค. และมีคนมากขึ้นที่คุ้นชินกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งยังคงบังคับใช้ในพื้นที่ซึ่งมีคนพลุกพล่าน
อย่างไรก็ตาม มิโดริ พนักงานวัย 29 ปีของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งระบุว่า จนถึงตอนนี้ มีเพื่อนของเธอเพียงคนเดียวที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล
“ฉันคิดว่า การบริโภคจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา” เธอให้ความเห็นกับสื่อในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเสริมว่า เธอมีแผนจะลงทุนบางส่วนจากเงินเยียวยาของรัฐบาล และใช้ส่วนที่เหลือกับของใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยสึโนดะจาก Shinkin กังวลว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอ และ “ ความรู้สึกกลัวความผันผวนในอนาคต” อาจทำให้หลายบริษัทมีการลดเงินโบนัสปลายปีและปรับลดการจ้างงานลง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจหดตัวลงกว่า 20% กับตัวเลขในไตรมาสนี้ ทำให้เป็นไตรมาส 3 ที่มีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ปลายเดือนพ.ค.