เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัว

มีการรายงานผลสำรวจของอุตสาหกรรมบริการว่าเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวในเดือนเม.ย.โดยภาวะชะงักงันนีั้เกิดจากความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อการลงประชามติที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในเดือนมิ.ย. นี้ทำให้สภาพเศรษฐกิจกลับไปอยู่ใระดับเดียวกับในอดีตที่ธนาคารกลางของอังกฤษพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย
โดยข้อมูลของ มาร์คิท บริษัทที่ทำการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ถ้าเศรษฐกิจยังคงซบเซาเหมือนในเดือนที่ผ่านมาจะส่งผลให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษอยู่ที่ 0.1% ในไตรมาส 2 ลดลงมาจากตัวเลข 0.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะทำให้เป็นไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
นายตริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทมาร์คิทมองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของเดือนเม.ย. ทำให้อังกฤษตกอยู่ในสภาพคล้ายกับในอดีตที่ธนาคารกลางต้องมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมาเพื่อช่่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
จากข้อมูลในดัชนีของบริษัท ภาคบริการมีตัวเลขการเติบโตต่ำที่สุดในรอบกว่า 3 ปี คือร่วงลงมาอยู่ที่ 52.3 คะแนนจาก 53.7 คะแนนในเดือนมี.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดจากโพลล์เศรษฐกิจของรอยเตอร์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอังกฤษเจริญรุดหน้าประเทศร่ำรวยอืนๆในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แต่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปี 2558
โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า การโหวตว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะส่งผลกระทบในระยะสั้นกับเศรษฐกิจ และเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือขยายมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาล แต่มีความเป็นไปได้ที่เงินปอนด์จะอ่อนค่าลง เงินเฟ้อจะสูงขึ้นและทำให้ธนาคารกลางมีความยุ่งยากมากขึ้นในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางการเงิน
จากข้อมูลในผลการสำรวจชี้ว่า ต้นทุนของบริษัทผู้ประกอบการในภาคบริการมีมูลค่าสูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนเม.ย. ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อัตราการจ้างงานยังคงต่ำที่สุดในเดือนเม.ย. นับตั้งแต่เดือนส.ค.2556 เป็นต้นมา สะท้อนถึงความซบเซาในตลาดแรงงานโดยรวมในปัจจุบันเศรษฐกิจของอังกฤษพึ่งพารายได้จากภาคบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่อาจหนุนให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากนักในปีที่ผ่านมา และจากผลการสำรวจที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง.