แอปเปิ้ลแพ้คดีบริษัทจีน

บริษัทแอปเปิ้ลแพ้คดีให้กับบริษัทในประเทศจีนเรื่องการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งทำให้บริษัทแห่งนี้สามารถขายกระเป๋าถือและเครื่องหนังในชื่อแบรนด์ “ไอโฟน” ได้ต่อไป
หนังสือพิมพ์รายวันเลกัล เดลี่ รายงานว่า ศาลประชาชนขั้นสูงแห่งกรุงปักกิ่งตัดสินให้บริษัทชินถงเทียนตี้ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องหนังและกระเป๋าถือเป็นฝ่ายชนะคดี
เครื่องหมายการค้าของบริษัทชินถงเทียนตี้ หรือ “ไอโฟน” เป็นสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของบริษัทในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553
โดยบริษัทแอปเปิ้ลเองเคยยื่นเสนอราคาในการใช้เครื่องหมายการค้าในชื่อไอโฟนสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี พ.ศ.2545 แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการจีนจนกระทั่งปี พ.ศ.2556
บริษัทชินถงเทียนตี้ ขายกระเป๋าถือ เคสโทรศัพท์มือถือ และเครื่องหนัง โดยทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้แบรนด์ “ไอโฟน” ซึ่งใกล้เคียงกับเครื่องหมายการค้าของแอปเปิ้ล แต่ต่างกันที่ผลิตภัณฑ์ของชินถงเทียนตี้นั้นมีสัญลักษณ์ “R” หรือสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฏหมาย
โดยบริษัทแอปเปิ้ลได้นำคดีนี้ขึ้นมาต่อสู้กับบริษัทชินถงเทียนตี้ โดยได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานเครื่องหมายการค้าของจีนในปี พ.ศ.2555 แต่ก็แพ้คดีกลับมา จึงยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ของกรุงปักกิ่งอีกครั้ง
จนกระทั่งต่อมา ได้มีการต่อสู้คดีจนถึงศาลสูงของจีนโดยศาลได้ตัดสินว่าบริษัทแอปเปิ้ลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวแบรนด์เองนั้นเป็นที่รู้จักหรือแพร่หลายในประเทศจีนก่อนที่บริษัทชินถงเทียนตี้จะยื่นขอเครื่องหมายการค้าในปี พ.ศ.2550
ทั้งนี้ เป็นเพราะโทรศัพท์มือถือไอโฟน ของแอปเปิ้ลนั้นวางขายในประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2552
การพิจารณาตัดสินคดีเสร็จสิ้นหลังจากการเปิดเผยยอดขายล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตัวเลขที่ลดลงกว่า 13% ในยอดขายที่ซบเซาของไอโฟน รวมถึงยอดขายทั้งหมดในจีนที่ทรุดตัวมากถึง 26%
บริษัทแอปเปิ้ลเองยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านอื่นๆ สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศจีน โดยในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เมืองปักกิ่งผ่านกฏหมายที่ต้องการให้ข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้ในประเทศจีนถูกเก็บรวบรวมไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่มีฐานตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
ซึ่งมีผลทำให้แอปพลิเคชัน ไอบุคส์ และ ไอทูนส์ ปิดตัวลงสำหรับการใช้งานในประเทศจีน โดยแอปเปิ้ลประกาศว่า หวังว่าการเข้าถึงแอปพลิเคชันต่างๆ จะสามารถใช้ได้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวของบริษัททำให้เป็นที่ยอมรับว่า ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของแอปเปิ้ล.