จีน-ญี่ปุ่นแข่งรถไฟความเร็วสูง
มาเลเซียและสิงคโปร์มีมติร่วมกันในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเชื่อมเกาะสิงคโปร์เข้ากับมหานครกัวลาลัมเปอร์
แต่ข่าวนี้ไม่อาจยับยั้งรัฐบาลจีนและ ญี่ปุ่นในการใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ยอมรับในเทคโนโลยีและวิศวกรรมการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศตน ก่อนที่จะมีการเปิดให้มีการเสนอราคาในไตรมาสแรกของปีหน้านี้
ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลญี่ปุ่นและจีนต่างพาผู้บริหารภาคเอกชนจากอุตสาหกรรมรางเข้าพบและล็อบบี้รัฐบาลมาเลเซียและตัวแทนสำคัญจากกระทรวงคมนาคมเพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางยาวถึง 350 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่บริหารจาก บริษัทอีสท์ เจแปน เรลเวย์ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม เจอาร์อีสท์ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่จากกระทรวงคมนาคมของมาเลเซียในเดือนที่แล้ว เพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นได้คว้าชัยในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้
จีนใช้ยุทธวิธีที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลมาเลเซีย โดย นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้ส่งจดหมายส่วนตัวถึง นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ในเดือน มี.ค.เพื่อยืนยันถึงคำมั่นของจีนที่จะลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดย นายกรัฐมนตรีหลี่ ยังได้เน้นถึงความสนใจอย่างที่สุดในการควบคุมความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้
โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ถูกพับเก็บชั่วคราวในปีที่แล้วจากความกังวลในเรื่องงบประมาณของมาเลเซีย ได้ถูกหยิบมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่ปรึกษา เพื่อศึกษาปัจจัยในการก่อสร้างให้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้นในโครงการเพื่อการพิจารณาร่วมกันของรัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียในช่วงเวลาการบริหารประเทศที่ยาวนานถึง 22 ปีของ นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งนโยบาย “มองตะวันออก” ของเขาพึ่งพาการลงทุนและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการก่อตั้งอุตสาหกรรมที่สำคัญของมาเลเซีย เช่น การผลิตรถยนต์ เป็นต้น
แต่ภายใต้การบริหารประเทศของ นายกรัฐมนตรีนาจิบ บทบาทของญี่ปุ่นถูกบดบังโดยบริษัทฯจากจีนที่ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ รวมถึงการก่อสร้างสะพานปีนังแห่งที่ 2 ที่มีมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน จึงเป็นการเผชิญหน้าและแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่าง บริษัทไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนและ บริษัทเจอาร์ อีสท์ ของญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียเชื่อว่า สิงคโปร์จะพอใจญี่ปุ่นในเรื่องการจัดการรถไฟและระบบสัญญาณรถไฟ เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบแล้วแต่มาเลเซียกลับพอใจจีนมากกว่า เพราะมีข้อตกลงในเรื่องเงินลงทุนที่สะดวกสบายกว่าและเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีราคาถูกกว่าของญี่ปุ่น โดยมากกว่า 80% ของรถไฟในมาเลเซียล้วนผลิตจากจีน
นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่มีการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานในมาเลเซีย รู้สึกได้ว่าญี่ปุ่นกำลังตกเป็นรองจีนในการแข่งขันเพื่อโครงการนี้
โดยผู้บริหารอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมญี่ปุ่นประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวว่า “เรากำลังต่อสู้อย่างสุดความสามารถ แต่ญี่ปุ่นยังหวังว่าสิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางเทคโนโลยีมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสที่ยุติธรรมมากขึ้นในการเสนอราคา”