ตลาดผู้บริโภคมุสลิมโตในอังกฤษ
ผู้ประกอบการชาวอังกฤษที่เริ่มจากสตาร์ทอัพหน้าใหม่จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจ ยังคงจับตามองตลาดสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยมีแบรนด์สินค้าที่หลากหลายตั้งแต่เสื้อผ้า การ์ดอวยพร จนถึงคอร์สออกกำลังกายออนไลน์
ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศส ที่มีการโต้แย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องสินค้าที่ผลิตโดยเฉพาะเจาะจงเพื่อชาวมุสลิม ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอังกฤษมีวิธีการคิดในแบบธุรกิจมากกว่า
นายราฟ เมอร์ซา ประธานบริหารบริษัทมุสลิม ไลฟ์สไตล์ เอ็กซ์โป (MLE) ซึ่งเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าเพื่อผู้บริโภคมุสลิมให้ความเห็นว่า “ฮาลาลไม่ได้มีผลกับอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลทางวัฒนธรรมกับธุรกิจอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าอีกด้วย”
โดยในสัปดาห์นี้ ทางบริษัทของเขาได้จัดอีเวนท์งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ถึง 150 ราย มารวมกันในใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อแลกเปลี่ยนเคล็ดลับความสำเร็จ และผลักดันให้ภาคส่วนธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ในห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่างมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ก็มีสินค้าแฟชั่นวิถีมุสลิมวางจำหน่ายทัดเทียมกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกสัญชาติอิตาเลียนอย่างดอลเช่แอนด์แก็บบานาหรือยูนิโคลจากญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นางลอรองซ์ รอสสิยอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านสิทธิสตรีของฝรั่งเศส ได้ออกมาโต้แย้งและวิจารณ์แฟชั่นของแบรนด์ดอลเช่แอนด์แก็บบานาว่า การให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมหน้าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทาส ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธและมีกระแสกดดันเธออย่างหนัก เพื่อให้เธอลาออกจากตำแหน่ง
โดยในงานอีเวนท์ของเอ็มแอลอีครั้งนี้ นางสาวฟาซาห์ เครชี่ ผู้ประกอบการจากเมืองยอร์คเชียร์ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของอังกฤษกล่าวว่า เธอทำธุรกิจการ์ดอวยพร โดยที่ผ่านมา เธอต้องใช้เวลาในการออกแบบรูปภาพอยู่นาน จึงจะได้รูปภาพที่เหมาะสม เช่น แก้วแชมเปญและมัสยิด เป็นต้น
นอกจากนี้ นางสาวซารา พีเดอร์สันได้ให้ข้อมูลว่า เธอสร้างสรรค์คอร์สออกกำลังออนไลน์ชื่อ“ฮิญาบเพื่อสุขภาพที่ดี” สำหรับผู้หญิงมุสลิมที่ปิดผ้าคลุมหน้าและรู้สึกอายที่จะต้องไปออกกำลังกายในสถานที่เดียวกันกับผู้ชาย
เธอกล่าวว่า“ยังคงมีช่องว่างของโอกาสอีกมากมายในตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิม” แต่ตัวเธอเองกลับไม่ได้สวมฮิญาบหรือผ้าคลุมหน้าแต่อย่างใด
นางเชลีนา จันโมฮัมเมด รองประธานบริษัทโฆษณาโอกิลวี่ นัวร์ ประเมินมูลค่าว่า ผู้บริโภคชาวมุสลิมใช้จ่ายในเรื่องไลฟ์สไตล์หรือรสนิยมในการใช้ชีวิตสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มากเป็นพิเศษ