ซาอุ-รัสเซียตกลงคงเพดานผลิตน้ำมัน
วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา รัสเซีย และซาอุดิอาระบีย สองประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเห็นพ้องกันที่จะคงเพดานการผลิตน้ำมันไว้เท่าเดิม แต่ยังมีความกังวลในเรื่องที่อิหร่าน (ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย) เคยประกาศว่า จะเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันให้มากขึ้น
รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย กาตาร์ และเวเนซุเอลา ประกาศมติร่วมกันหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมลับที่กรุงโดฮา นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกมีการประชุมร่วมกันในรอบ 15 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด และช่วยพลิกฟื้นราคาน้ำมันขาลงที่ตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ
นายอาลี อัล-ไนมี รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า การคงเพดานการผลิตน้ำมันไว้ในระดับเดียวกับปริมาณเดือนม.ค. เป็นมาตรการที่เพียงพอแล้ว และเขาหวังว่า ผู้ผลิตรายอื่นจะยอมรับแผนนี้ นายอูโลจิโอ เดล ปิโน รัฐมนตรีน้ำมันของเวเนซุเอลา กล่าวว่า จะมีการประชุมกับอิหร่านและอิรักในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ที่กรุงเตหะราน
นายไนมี กล่าวว่า “เหตุผลง่ายๆที่เราเห็นพ้องกันที่จะคงเพดานการผลิตน้ำมันคือ เป็นการเริ่มต้นของกระบวนการที่เราจะประเมินผลได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และตัดสินใจว่าเราจะมีมาตรการอื่นๆที่จะปรับปรุงตลาดให้มีเสถียรภาพมากขึ้นหรือไม่” นอกจากนี้ฃเขายังเสริมว่า “เราไม่ต้องการให้ราคาผันผวน ไม่อยากลดกำลังการผลิต เราอยากให้อุปสงค์สมดุลกับอุปทาน และราคามีเสถียรภาพ เราจะค่อยๆ แก้ปัญหาไป”
ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็น 35.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,244.25 บาทต่อบาร์เรลทันทีหลังจากได้รับข่าวจากการประชุมนี้ แต่ต่อมาก็ปรับลดลงไปต่ำกว่า 34 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,190 บาทต่อบาร์เรล เนื่องจากมีความกังวลว่าอิหร่านจะปฏิเสธข้อตกลงนี้ อิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก และเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญของซาอุดิอาระเบีย ได้เคยประกาศ หลังจากนานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า อิหร่านตั้งใจจะเพิ่มเพดานการผลิตในช่วง 2-3 เดือนนี้ เพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่สูญเสียไปหลายปีกลับคืนมา
แหล่งข่าวอาวุโสในอิหร่านกล่าวกับสื่อว่า “อิหร่านยังผลิตน้ำมันได้ไม่ถึงระดับเดิมก่อนการถูกคว่ำบาตรเลย ถ้าผลิตได้ถึงระดับเดิมอิหร่านจึงจะคุยด้วย สถานการณ์ของอิหร่านต่างจากประเทศอื่นที่โหมผลิตน้ำมันมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันที่ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียผลิตออกมารวมกัน ที่สูงเกือบเป็นประวัติการณ์ทำให้ข้อตกลงนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากเพดานการผลิตน้ำมันในอิหร่านคือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณเดิมก่อนการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ
นายเจสัน ทูเวย์ นักวิเคราะห์จากแคปปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า “ข้อตกลงนี้จะช่วยพยุงราคาน้ำมันไว้ได้ แต่ก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ควรระวัง คือสมาชิกกลุ่มโอเปกประเทศอื่นยังไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ โดยเฉพาะอิรัก และอิหร่าน การที่ทุกประเทศจะปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย”