อินเดียเล็งเลิกวีซ่าอาเซียนหนุนท่องเที่ยวเชิงพุทธ
นิตยสารดิอีโคโนมิก ไทม์ส สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจของอินเดีย รายงานข่าวรองประธานาธิบดีอินเดียเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี โดยระบุว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจเพื่อสานความสัมพันธ์ทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน
ทั้งนี้นายฮามิด อันซารี รองประธานาธิบดีอินเดีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “India, Thailand and ASEAN : Contours of a rejuvenated relationship” ซึ่งจัดโดยศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. โดยนายอันซารีได้เปิดเผยว่ารัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณามาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศอินเดียให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธในภูมิภาค โดยมุ่งหวังเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชนในอาเซียน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวพุทธที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศอินเดีย
แม้จะยังไม่มีการระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด แต่ถือเป็นทิศทางความร่วมมือ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย และอาเซียนที่น่าสนใจ
นอกจากนี้“การค้า, วัฒนธรรม และการเชื่อมโยง” (Commerce, Culture, Connectivity : 3C) ยังเป็นเป้าหมายสำคัญในการประสานความร่วมมือกันระหว่างอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตข้างหน้า โดยนายอันซารีระบุว่าราก เหง้าทางวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาพุทธเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงอินเดีย และประเทศอาเซียนบางส่วนเข้าด้วย กันมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ยกตัวอย่างการเผยแผ่ศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียมายังศรีลังกา, ไทย, กัมพูชา, เมียนมา และเวียดนาม จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
นายอันซารี ได้ยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางศาสนาในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพิ่มเติม ทั้งมหาเจดีย์บุโรพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย และนครวัดในประเทศกัมพูชา ล้วนเป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาจากอินเดียในอดีต ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแรงกล้าในการอุทิศตัวให้แก่ศาสนาของบรรพชนในอดีต
“วรรณคดีไทยอย่างรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่อ้างอิงมาจากมหากาพย์รามายณะ ขณะที่กลุ่มชนชาติไท เช่น ไทอาหม ไทคำตี้ และชาวกาสี ต่างก็มีบรรพบุรุษซึ่งมีรากเหง้าเชื่อมโยงกับคนไทยทั้งสิ้น และคนเหล่านี้ได้อพยพไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และ 19 การดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความหลากหลายด้านต่างๆ ให้แก่สังคมอินเดียในปัจจุบัน” นายอันซารี กล่าว
นอกเหนือจากการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว นายอันซารียังได้กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วม มือระหว่างอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านโครงการอบรม และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการของบุคลากรในประเทศอาเซียนกับสถาบันนาลันทาในอินเดีย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยสงฆ์ในอดีตขึ้นเป็นแหล่งวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลวิชาการด้านพุทธศาสนา และภาษาบาลี
ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในรัฐพิหารของอินเดีย โดยที่ผ่านมาทางการอินเดียได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษา และนักวิชาการที่สนใจในประเด็นศาสนาจากกัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา เพื่อไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ในระดับปริญญาที่สถาบันนาลันทามาได้ระยะหนึ่งแล้ว