ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าน้อยลง
มีการเผยแพร่ข้อมูลจากภาครัฐ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าน้อยลงในปี 2558 จากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงช่วยลดแรงกดดันในการนำเข้าเชื้อเพลิงหลังเหตุการณ์สึนามิที่ฟูกุชิมา ขณะที่รถยนต์ขึ้นนำในภาคการส่งออกของญี่ปุ่น
ยอดการขาดดุลการค้าที่ลดลงนับเป็นข่าวดีสำหรับนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ หลังจากการดิ้นรนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการทดสอบล่วงหน้าถึงความเป็นผู้นำของเขาในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดสำคัญ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และเงินเยนที่อ่อนค่าลงช่วยหนุนการส่งออกให้กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเบอร์ 3 ของเศรษฐกิจโลก จากตัวเลขแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าประจำปีเป็นครั้งที่ 5 แต่สามารถลดการขาดดุลลงได้ถึง 78% จากปี 2557 มาอยู่ที่ 2.83 ล้านล้านเยน
ยอดส่งออกรถยนต์พุ่งขึ้น 10.3% จากปี 2557 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าลดฮวบลงถึง 41% เฉพาะเดือนธ.ค.เพียงเดือนเดียว ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าถึง 140,000 ล้านเยน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน
ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจำนวนมากเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ แต่การดิ่งลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันตลอดฤดูร้อนที่ผ่านมา ช่วยลดแรงกดดันให้ญี่ปุ่นจากความต้องการด้านพลังงานไปได้มาก
ที่ผ่านมาญี่ปุ่นต้องปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิ และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถล่มโรงงานในเมืองฟูกุชิมาปี 2554 โดยภัยธรรมชาติร้ายแรงครั้งนั้นบีบให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก เพื่อคงความสว่างไสวให้กับประเทศ จึงเป็นสาเหตุนำไปสู่การขาดดุลการค้าของประเทศในเวลาต่อมา
นายมาร์เซล ธีเลียนท์ จากสำนักวิจัยแคปปิตัล อิโคโนมิกส์ กล่าวว่า “ราคาพลังงานที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคานำเข้าถูกลงไปมาก”
นายกรัฐมนตรีอาเบะ ได้ผลักดันให้มีการเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ขึ้นอีก จากการสนับสนุนของธุรกิจในชุมชน แต่ภาคประชาชนยังมีความเห็นที่แตกต่างกันและหลายฝ่ายคัดค้านการเปลี่ยนกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ มีผู้ต่อต้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิมของอุบัติภัยร้ายแรงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชั่วชีวิตคน
นายจุนโกะ นิชิโอกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารซูมิโตโม่มิตซุย กล่าวว่า “การเริ่มต้นใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ส่งผลเพียงเล็กน้อยกับสถิติการค้าในปี 2558 แต่ถ้าการบริหารจัดการของนายอาเบะยังคงเดินหน้าต่อไป ก็จะส่งผลดีต่อการลดการขาดดุลการค้า”
แต่ นายนิชิโอกะ เตือนว่า อุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ นายนิชิโอกะ เสริมว่า หากทำให้ตลาดสับสน ก็มีแนวโน้มจะทำลายความเชื่อมั่นทางธุรกิจไปด้วย
นายจุนนิจิ มากิโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเอสเอ็มบีซี นิกโกะ เซคิวริตี้ส์ ให้ความเห็นว่า การร่วงลงของราคาน้ำมัน ส่งผลกดดันต่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้อุปสงค์ลดลงในหมวดเครื่องจักรกลก่อสร้างของญี่ปุ่น
นายมากิโนะ เสริมว่า “คาดว่าอุปสงค์เรื่องรถยนต์จะยังวางใจได้ต่อไป และด้านอิเล็กโทรนิกส์จะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงในเครื่องจักรกลทั่วไป”
ตัวเลขทางการค้ามาพร้อมกับการจับตามองของนักวิเคราะห์กับตัวเลขจีดีพีของญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้าย ปี 2558 ที่จะมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในเดือนหน้า