มลพิษเมืองเฉินหยางวิกฤต
สื่อของจีน และประชาชนต่างพากันวิจารณ์ถึงมลพิษระดับสูงในเมืองเฉินหยาง ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เอ็นจีโอประณามว่า เป็นมลพิษที่ร้ายแรงที่สุดในจีน
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองในอากาศที่วัดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกถึง 50 เท่า
มลพิษในอากาศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่เต็มไปด้วยบ้านพักอาศัยจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งเหมืองถ่านหิน
จากรายงานของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ ในบางพื้นที่ของเมืองเฉินหยาง สามารถวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศได้สูงถึง 1,400 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ค่าฝุ่นละอองในอากาศขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดในระดับที่ปลอดภัยคือ 25 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเรียกว่า ค่าพีเอ็ม 2.5
นายตง เลี่ยนไซ นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรกรีนพีซกล่าวว่า “จากข้อมูลที่เราสำรวจใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นค่าพีเอ็ม 2.5 ที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้”
สื่อท้องถิ่นออกโรงตำหนิ การประกาศมาตรการฉุกเฉินที่ล่าช้าของภาครัฐ เช่น การแจ้งเตือนประชาชน และการสั่งให้สถานประกอบการหยุดงาน
บทบรรณาธิการของเดอะ โกลบอล ไทม์ส ได้เขียนตำหนิข้าราชการท้องถิ่นว่า ไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหามลพิษ ไม่มีช่องทางในการสื่อสารที่เป็นระบบ และเป็นตัวอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลในการบริโภคพลังงาน และโครงสร้างอุตสาหกรรม
ในบล็อกส่วนตัวของเว็บไซต์เว่ยป๋อ ประชาชนในเมืองเฉินหยางยังคงโพสต์รูปตัวเองสวมหน้ากาก และบรรยากาศในเมืองที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกหนาทึบ โดยการติดแฮชแท็ก
# หมอกเฉินหยาง ตัวอย่างเช่น “ฉันอยู่แบบนี้ไม่ได้ # หมอกเฉินหยาง# ถ้ามีหมอกพิษนานกว่านี้ ทุกคนคงเป็นมะเร็งกันหมด”
คุณภาพอากาศที่เลวร้าย มาจากการใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลักในระบบทำความร้อน เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ผู้คนในฤดูหนาว
เมื่อตอนต้นปี กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนรายงานว่า มีเพียง 8 เมืองจาก 74 เมืองใหญ่ในจีน ที่มีคุณภาพอากาศผ่านระดับความปลอดภัยในปี 2557 โดยเมืองใหญ่ส่วนมากที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความพยายามที่จะแก้ปัญหามลพิษของจีน คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจีนยังคงต้องพึ่งพาพลังงานถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และอุตสาหกรรม