ค่ายหนังอังกฤษวอนรัฐช่วยเหลือหลังเบร็กซิท
รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศให้มากขึ้น หากต้องการประคองรายได้ให้คงที่หลังจากต้องแยกตัวออกจากยุโรป
นายไซกี คามาซา ผู้บริหารบริษัทไลออนส์เกท กล่าวว่า เมื่ออังกฤษแยกตัวออกจากยุโรปหลังเบร็กซิทจะมีผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์จำนวนมากแน่นอน
เขากล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีอีกว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมการภาพยนตร์อยู่ภายใต้แรงกดดันครั้งใหญ่
“ นั่นเป็นเพราะธุรกิจภาพยนตร์ในอังกฤษมักได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ผลิตร่วมทางยุโรป รวมไปถึงหนังสัญชาติอังกฤษอีกมากมายที่มีฉากถ่ายทำทั่วยุโรป ”
หมายความว่าต้องมีผู้ทำงานเบื้องหลังจำนวนมากที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามกองถ่ายระหว่างยุโรปและอังกฤษเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษส่วนมาก และปัญหาการแยกตัวออกมายังเป็นที่สงสัยว่าจะกระทบการถ่ายทำภาพยนตร์มากแค่ไหน
นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนไปก็กระทบกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เช่นกัน เช่นจำนวนผู้ชมที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านผู้ให้บริการต่างๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ก็ช่วยแสดงตัวเลขแนวโน้มของผู้ต้องการชมภาพยนตร์ในอนาคตได้อีกด้วย
รัฐบาลและสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรหรือ BFI จำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอดต่อไปให้ได้
ทางบริษัทไลออนส์เกทได้สร้างปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์ไว้มากมาย เช่นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง ‘ลา ลา แลนด์’ ทางด้านสาขาของไลออนส์เกทในสหราชอาณาจักรเองก็กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ อย่าง ‘โรบิน ฮู้ด’ เวอร์ชันใหม่ ที่ถ่ายทำทั้งในฮังการีและในอังกฤษ
รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องใหม่ของค่ายดิสนีย์อย่าง ‘ สตาร์ วอร์ส์ โร้ก วัน ‘ ที่เพิ่งฉายไปในเดือน ธ.ค.ปีก่อน ก็ถ่ายทำในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน
กว่า 1 ใน 4 ของต้นทุนการผลิตภาพยนตร์ในสหราชอาณาจักรนั้นมาจากภาษีของประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตนั้นมาจากเครดิตภาษีกว่า 25%
นายไซกีกล่าวว่าการสนับสนุนจากรัฐนั้นสำคัญกว่าแหล่งผู้ผลิตหรือนักลงทุนอิสระอยู่มาก แต่ในอนาคตจะต้องมีการปรับตัวให้มากกว่านี้
ในปี 2558 รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยการลดหย่อนภาษีกว่า 251 ล้านปอนด์.
หมายเหตุ 1 ปอนด์ = 43.74 บาท / 25 มี.ค 2560