อี-มันนีโตในอาเซียน
อี-มันนี่มีการขยายตัวเติบโตในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จากรายงานที่จัดทำโดย Standard and Poor’s (S&P) Global Market Intelligence
โดยรายงานตลาดอี-มันนี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 พบว่า จำนวนธุรกรรมของอี-มันนี่ในภูมิภาคเพิ่มขึ้นกว่า 31% ในปี 2561 โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีการเติบโตสูงสุดสำหรับแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่ของธนาคาร
รายงานระบุว่า อี-มันนี่สามารถโค่นแชมป์ระบบการจ่ายเงินแบบเดิมอย่างบัตรเดบิตและบัตรเครดิตลงได้ โดยมีการทำธุรกรรมกว่า 10,000 ล้านครั้งในปี 2561 และจากจำนวนธุรกรรมอี-มันนี่ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว เกิดขึ้นในสิงคโปร์ 34% ทำให้สิงคโปร์เป็นฮับของธุรกรรมไร้เงินสดในภูมิภาค
ขณะที่จำนวนธุรกรรมไร้เงินสดในอินโดนีเซียขยายตัวเติบโตเป็นกว่า 2 พันล้านครั้งในปี 2561 คิดเป็นประมาณ 20% ของธุรกรรมทั้งหมดกว่าหมื่นล้านครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความนิยมในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่ธนาคารเช่น บริการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นอย่าง Grab และ Go-Jek ที่ช่วยหนุนการเติบโตของบริการรถร่วมโดยสารและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค
“ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มีความถี่ของการใช้งานสูง และการใช้งานในกรณีเรียกรถโดยสาร และอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มเติบโตทั่วภูมิภาค จำนวนการทำธุรกรรมที่ผูกผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในช่วงขยายตัวเติบโต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในอินโดนีเซีย ที่ปริมาณการใช้อี-มันนี่โตขึ้นเป็น 36% ในปี 2561 จากเดิมน้อยกว่า 10% ในปี 2560 ” Sampath Sharma Nariyanuri นักวิเคราะห์ฟินเทคประจำ S&P Global Market Intelligence ระบุในแถลงการณ์
รายงานระบุว่า การเติบโตของอี-มันนี่ได้อานิสงส์จากจำนวนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารซึ่งมีมากในประเทศเศรษฐกิจใช้เงินสด อย่างในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์