เกาหลีใต้บอยคอตสินค้าญี่ปุ่น
โซล (รอยเตอร์) – ทันทีที่โชมินฮยอกไปทำงานในวันรุ่งขึ้นหลังญี่ปุ่นประกาศควบคุมการส่งออกวัสดุไฮเทคให้เกาหลีใต้ เขาได้กวาดสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นออกจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตจนหมด
เป็นวิธีการของโชในการแสดงจุดยืนต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว จากกรณีพิพาททางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก
ความโกรธเคืองทำให้เกิดกระแสบอยคอตสินค้าและบริการของญี่ปุ่นแพร่กระจายไปทั่ว ตั้งแต่เบียร์ไปจนถึงเสื้อผ้าและการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ซบเซาอยู่ก่อนแล้ว
จากกระแสของโช ซึ่งเป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ต Purunemart ในกรุงโซล ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำแห่งอื่นกว่า 200 ร้านทำตาม จากข้อมูลของสมาคมตลาดเกาหลี
“ญี่ปุ่นกดดันเกาหลีใต้ด้วยการคุมการส่งออก การแสดงออกให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่รู้สึกเสียใจกับความผิดที่เคยกระทำ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” โชกล่าว โดยเสริมว่ายอดขายที่ลดลง 10-15% ไม่ทำให้เขาเปลี่ยนใจได้
ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสองประเทศยกระดับขึ้นในปีที่แล้ว หลังจากศาลเกาหลีใต้มีคำพิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับให้ทำงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ญี่ปุ่นประกาศคุมเข้มการส่งออกวัสดุไฮเทคไปเกาหลีใต้ แต่ปฏิเสธว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเงินชดเชย
รัฐบาลเกาหลีใต้ยืนยันว่าจะมีมาตรการโต้ตอบ โดยระบุว่าจะยื่นคำร้องไปที่องค์การการค้าโลก แต่ประชาชนชาวเกาหลีใต้เองพยายามจัดการกับเรื่องนี้เอง โดยเบียร์เป็นเป้าหมายที่เห็นชัดเจน
ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง CU และ G25 กล่าวกับสื่อรอยเตอร์ว่า ยอดขายเบียร์แบรนด์ญี่ปุ่นลดฮวบลงถึง 21.5% และ 24.2% ตามลำดับ ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนก.ค. ขณะที่ E-Mart มียอดขายเบียร์ญี่ปุ่นลดลง 24.6%
เกาหลีใต้ซื้อเบียร์ญี่ปุ่นถึง 61% มีมูลค่า 7,900 ล้านเยน ( 2,259 ล้านบาท) ในปี 2561 โดยเบียร์อาซาฮี ซูเปอร์ดรายได้รับความนิยมในการนำเข้ามากที่สุด มียอดขายเพิ่มเป็น 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
มีกระแสการยกเลิกทริปท่องเที่ยวญี่ปุ่นบนโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดย Hanatour ระบุว่า มียอดจองเที่ยวญี่ปุ่นใน 1 วันเพียง 500 ราย จากเดิมเฉลี่ย 1,100 รายต่อวัน ขณะที่ Very Good Tour ระบุว่า ยอดจองลดลง 10% ขณะที่มีการยกเลิกเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน
ล็อตเต โฮม ช้อปปิง ระบุว่าได้หยุดออกอากาศโฆษณาแพ็กเกจทัวร์ไปญี่ปุ่นทางโทรทัศน์ เนื่องจากคาดว่าผลตอบรับจะย่ำแย่ แบรนด์เสื้อผ้ายูนิโคล ซึ่งมี 186 ร้านในเกาหลีใต้ และมียอดขายในเกาหลีใต้ 6.6% ของรายได้ทั้งหมด เริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่พอใจครั้งนี้
“มีผลกระทบกับยอดขายจริง” ทาเคชิ โอคาซากิ กล่าวให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ประเมินตัวเลขความเสียหาย.