ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวโต้คำสั่งทรัมป์
ศาลสหรัฐฯ ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกับผู้ที่ถือวีซ่าหรือผู้ลี้ภัยที่ตกค้างที่สนามบิน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกคำสั่งห้ามไม่ให้คนเหล่านี้เข้าสหรัฐฯเป็นเวลา 90 วัน
สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเป็นการตอบโต้คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา
มีการประเมินว่า มีผู้โดยสาร 100-200 คนที่ถูกกักตัวที่สนามบิน หรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนเครื่อง โดยมีผู้ชุมนุมประท้วงหลายพันคนที่สนามบินในสหรัฐฯ หลังจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้เข้มงวดกับระบบการคัดกรองคนเข้าสหรัฐฯ
ทั้งนี้ คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์คือ งดรับผู้ลี้ภัยทั้งหมดและห้ามเข้าประเทศสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม 7 ประเทศคือ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรียและเยเมน
ทำให้ผู้ที่เดินทางในระหว่างเส้นทางถูกกักตัวเมื่อมาถึงสหรัฐฯ ถึงแม้จะถือวีซ่าสหรัฐฯ หรือใบอนุญาตเข้าเมืองอื่นๆ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ท่ามกลางการประท้วงและรอผลการตัดสินของศาล ประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ มันได้ผลดีมาก คุณดูที่สนามบินสิ คุณจะเห็นว่ามันได้ผล ”
คำตัดสินจากผู้พิพากษากลางแอน ดอนเนลี ในนิวยอร์กเป็นการปกป้องผู้คนไม่ให้ถูกขับออกจากสหรัฐฯ ทั้งผู้ลี้ภัย ผู้ถือวีซ่าถูกต้อง และคนอื่นๆ ที่สามารถเข้าสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคำตัดสินฉุกเฉินของศาลยังมีว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่เป็นรูปธรรมและแก้ไขไม่ได้ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์
โดยคำตัดสินของผู้พิพากษาไม่ได้เห็นชอบตามรัฐธรรมนูญกับคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปที่สนามบินยังคงไม่ชัดเจน
กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแถลงว่า จะยังคงบังคับใช้มาตรการต่อไปเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ส่งผลกระทบกับคนน้อยกว่า 1% ของนักเดินทางนานาชาติมากกว่า 325,000 คนที่มาถึงทุกวัน โดยเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะเพิกถอนวีซ่าเมื่อใดก็ได้ หากต้องการความมั่นคงระหว่างประเทศหรือความปลอดภัยต่อสาธารณชน
เสียงวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ โดยอิหร่านและอิรักจะใช้มาตรการโต้ตอบด้วยการห้ามพลเมืองสหรัฐฯ เข้าประเทศทั้งสองเช่นกัน
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีแถลงว่า “ แม้จะเป็นความจำเป็น หรือตั้งใจที่จะสู้กับการก่อการร้าย ก็ไม่ควรจัดการผู้คนที่มาจากประเทศ หรือมีความเชื่อที่เรามีความระแวงโดยทั่วไปเช่นนี้ ”
โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า นายกฯ เมย์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้.