IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกอีก
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 62 ลงอีกครั้ง โดยชี้ถึงความเสี่ยงอย่างความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และนโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้นจากธนาคารกลาง
IMF ระบุว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3.3% ในปีนี้ ลดลงมาจากแนวโน้มก่อนหน้านี้คือ 3.5% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง IMF เสริมว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.6% ในปี 63
รายงานของ IMF มีขึ้นในช่วงเวลาที่สภาคองเกรสผ่านข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่ลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีของเม็กซิโกและนายกรัฐมนตรีของแคนาดา ซึ่งจะใช้แทนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ที่มีอยู่เดิม และรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์กำลังพยายามจะทำข้อตกลงการค้ากับจีนอยู่ในเวลานี้
“ สมดุลของความเสี่ยงยังคงเป็นในเชิงลบ ” IMFระบุ “ ความล้มเหลวที่จะแก้ไขความแตกต่างและอุปสรรคการค้าด้วยภาษีที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการนำเข้าสินค้า และราคาสินค้าแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภค”
โดย USMCA มีการลงนามในวันที่ 30 พ.ย.61 แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส และการที่ข้อตกลงนี้จะกลายเป็นกฎหมายดูจะเป็นงานยากสำหรับรัฐบาล โดยข้อตกลงนี้ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฏรที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก และยังถูกวิจารณ์จากส.ว.Chuck Grassley ด้วย
หากข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศล้มเหลว จะส่งผลกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯอย่างมาก เพราะแคนาดาและเม็กซิโกเป็น 2 ใน 3 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คิดเป็น 30% ของมูลค่าการค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกในปี 61 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากร
นอกจากนี้ สหรัฐฯกำลังพยายามทำข้อตกลงกับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เฉพาะจีนประเทศเดียวก็คิดเป็นเกือบ 16% ของมูลค่าการค้าของสหรัฐฯทั่วโลกในปีที่แล้ว แต่การเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศยังคงดำเนินต่อไป
IMF เตือนว่า หากการเจรจาล้มเหลว จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯและจีน โดยเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนเติบโต 6.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี
อีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินจากธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด
โดยเฟดกลับลำจุดยืนของนโยบายในปีนี้ โดยลบการคาดหวังว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 62
หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีที่แล้ว การกลับลำครั้งนี้ของเฟดส่งผลให้ตลาดหุ้นร้อนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นสูงที่สุดในไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี 41 เป็นต้นมา
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จากมุมมองของ IMF คือเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง ความผันผวนทางการเมือง เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีการเลือกตั้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออก.