ญี่ปุ่นพบโรงเรียนแพทย์กดคะแนนผู้เข้าสอบหญิงเพิ่ม
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. มาซาฮิโกะ ชิบายามะ รมว.กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า มีการค้นพบโรงเรียนแพทย์ในประเทศญี่ปุ่น ที่โกงการสอบเข้าศึกษาทำให้นศ.แพทย์หญิงหลายรายเสียสิทธิ์อีกหลายแห่ง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ซึ่งมีการพบว่ามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในกรุงโตเกียวโกงคะแนนผู้เข้าสอบหญิง
รมว.กระทรวงศึกษาธิการระบุในงานแถลงข่าวว่าก่อนหน้านี้ เกิดความกังขาเกี่ยวกับการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครสอบหญิงอย่างหนัก และรวมถึงผู้สมัครชายที่ไม่ผ่านการทดสอบในอดีตอีกด้วย
นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวแล้ว โรงเรียนแพทย์อีก 81 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ล้วนออกมาปฏิเสธเกี่ยวกับการโกงคะแนนที่แบ่งแยกผู้เข้าสอบโดยคำนึงถึงเพศ และอายุ
ด้านกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้เข้าตรวจสอบในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่ง ที่มีอัตราการสอบผ่านของผู้เข้าสอบหญิงและชายไม่เท่าเทียมกันในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้ ในระหว่างการสำรวจ ทางกระทรวงพบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ามีการปฏิบัติต่อผู้เข้าสอบอย่างไม่เป็นธรรม ขึ้นอยู่กับเพศ หรือแม้แต่ประวัติของผู้ที่เคยสอบตกในอดีต
นายชิบายามะระบุว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน ในเมื่อการสอบควรจะเป็นไปอย่างยุติธรรมกลับดำเนินการในรูปแบบนี้แทน”
นายชิบายามะขอสงวนชื่อหรือจำนวนมหาวิทยาลัยที่คาดว่าได้มีการโกงคะแนนสอบ เนื่องจากว่ายังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนพอในการสนับสนุนกรณีที่ผู้เข้าสอบถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นกลาง
ทางกระทรวงได้วางแผนที่จะสอบสวนตามที่สันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้ต่อไป และจะรวบรวมรายงานผลในเดือน ต.ค. นี้ นอกจากนี้ยังได้จัดการสำรวจในมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีคณะแพทยศาสตร์ เพื่อที่จะเปิดเผยข้อมูลสุดท้ายภายในสิ้นปี
ในผลสำรวจเบื้องต้นของทางกระทรวงเมื่อเดือนก่อน เผยให้เห็นว่ามีสถิติผู้สมัครชายที่ผ่านการทดสอบเข้าโรงเรียนแพทย์มากกว่าผู้หญิงถึง 78% หลังมีข่าวการโกงข้อสอบก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขเฉลี่ยเป็นสัดส่วนของผู้สมัครชายที่สอบผ่านต่อผู้หญิงอยู่ที่ 1.18
เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ได้ยอมรับว่ามีการลดคะแนนสอบเข้าของผู้สมัครสอบหญิงมาตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี เพื่อรั้งคะแนนสอบของผู้หญิงให้เท่ากับผู้ชายที่สอบไม่ผ่านเป็นจำนวนหลายครั้ง
การโกงคะแนนสอบมีจุดประสงค์ที่จะกำหนดสัดส่วนนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยไว้ที่ 30% โดยทางมหาวิทยาลัยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่สังกัดโรงพยาบาลในเครือได้ เนื่องจากเชื่อว่าแพทย์หญิงส่วนใหญ่มักลาออกจากงาน หรือหยุดพักเป็นเวลานานหลังแต่งงาน หรือคลอดลูก
นอกจากนี้ โรงเรียนแพทย์มักไม่รับผู้เข้าสอบชายที่สอบตกบ่อยครั้ง เนื่องจากผู้เข้าสอบเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านการทดสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์แห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นการฉุดสัดส่วนผู้เข้าสอบที่ประสบความสำเร็จ และทำลายภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย.