นาเดีย มูราด จากทาสกามสู่เจ้าของรางวัลโนเบล
นาเดีย มูราดเอาชีวิตรอดจากความโหดร้ายทารุณที่เกิดกับชาวยาซิดีในอิรักได้ ก่อนที่จะกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.มูราดและดร.เดนิส มุกเวเกจากคองโกได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันจาก “ ความพยายามของพวกเขาที่จะยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมือในสงคราม ” Berit Reiss-Anderson ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวในการประกาศชื่อผู้ชนะรางวัลโนเบลในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
มูราดในวัย 25 ปี ซึ่งมีรูปร่างผอมบาง ใบหน้าสีซีดและมีผมยาวสีน้ำตาล กลายเป็นสตรีอิรักคนแรกที่ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
โดยครั้งหนึ่งเธอเคยใช้ชีวิตอย่างสงบในหมู่บ้านของชาวยาซิดีในบริเวณภูเขาของเมืองซินจาร์ ทางเหนือของอิรัก ใกล้กับพรมแดนประเทศซีเรีย
แต่เมื่อกลุ่มก่อการร้ายจากรัฐอิสลาม หรือไอเอสบุกโจมตีทั้งสองประเทศในปี 2557 ชะตาชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปและเธอต้องพบกับฝันร้าย
วันหนึ่งในเดือนส.ค.ปี 2557 รถบรรทุกที่มีรูปธงสีดำของกลุ่มก่อการร้ายไอเอสบุกเข้ามาในหมู่บ้านโคโชของเธอ สังหารผู้ชาย จับเด็กๆเพื่อไปฝึกให้เป็นนักรบไอเอส และจับผู้หญิงไปเป็นทาสแรงงานและทาสกาม เธอถูกจับตัวไปที่เมืองโมซุล ซึ่งเป็นเหมือนเมืองหลวงของกลุ่มไอเอส
ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์แสนสาหัสนานสามเดือน เธอถูกข่มขืนรุมโทรม ถูกทรมาน และถูกทุบตีทำร้าย
โดยกลุ่มไอเอสจัดตั้งตลาดค้าทาสเพื่อขายสตรีและเด็กหญิง และสตรีชาวยาซิดีถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา เพราะกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่เคร่งศาสนาแบบสุดโต่งมองว่าชาวยาซิดีเป็นพวกนอกรีต
มูราดถูกบังคับให้แต่งงานกับกลุ่มไอเอส ถุูกทุบตีและถูกบังคับให้สวมเสื้อผ้าแบบที่ต้องการ
“ สิ่งแรกที่พวกไอเอสทำคือบังคับเราให้เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ” มูราดกล่าวกับสื่อ AFP ในปี 2559
เธอตกใจและหวาดกลัวความรุนแรง ทำให้เธอพยายามหลบหนี โชคดีที่เธอได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวชาวมุสลิมในเมืองโมซุล จากเอกสารปลอมที่เธอมี เธอสามารถหลบหนีข้ามไปที่อิรัก และได้พบกับกลุ่มชาวยาซิดีพลัดถิ่นคนอื่นๆ เธอพบว่าสมาชิกในครอบครัวทั้งแม่และพี่น้องของเธอรวม 6 คนถูกสังหาร และจากความช่วยเหลือขององค์กรที่ให้การสนับสนุนชาวยาซิดี เธอได้เดินทางไปพบกับน้องสาวของเธอที่เยอรมนี ซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบันของเธอ
ตั้งแต่นั้นมา เธออุทิศตัวเองให้กับสิ่งที่เธอเรียกว่า “ การต่อสู้ของประชาชนของเรา ” และกลายเป็นโฆษกหญิงที่มีชื่อเสียง ก่อนประเด็นความเคลื่อนไหว #MeToo จะกลายเป็นกระแสที่จุดติดไปทั่วโลก
ในการประกาศรางวัลโนเบลเมื่อวันที่ 5 ต.ค. Reiss-Anderson ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า “ โลกที่มีความสงบสุขกว่านี้จะเป็นจริงได้ หากผู้หญิงและสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยเป็นที่ตระหนักรู้และได้รับการคุ้มครองในสงคราม”
มูราดระบุว่า พวกไอเอสต้องการทำลายเกียรติของเรา แต่พวกเขากลับสูญเสียเกียรติของตัวเอง ตอนนี้เธอเป็นทูตขององค์การสหประชาชาติเพื่อผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์
หลังจากผ่านประสบการณ์เลวร้ายมามาก เมื่อเดือนส.ค.เธอประกาศการหมั้นกับนักเคลื่อนไหวชาวยาซิดีชื่ออาบิด ชามดีน โดยเธอโพสต์บนทวิตเตอร์ว่า “ การต่อสู้เพื่อประชาชนของเรานำเราสองคนให้มาพบกัน และเราจะเดินในเส้นทางนี้ด้วยกันต่อไป ” พร้อมภาพเธอและคนรักของเธอด้วยรอยยิ้มสดใส.