ยูเอ็นเยือนค่ายโรฮิงญาในบังคลาเทศ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเดินทางมาเยือนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพื้นที่ตามชายแดนระหว่างบังคลาเทศและเมียนมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.เพื่อเป็นการขานรับกับหนึ่งในวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดในโลก
โดยผู้แทนจากยูเอ็นจะดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยในค่ายที่บังคลาเทศ ก่อนจะเดินทางไปเมียนมาและประชุมกับนางอองซาน ซูจี ซึ่งถูกตำหนิจากชาติตะวันตกสำหรับความล้มเหลวของเธอที่ไม่สามารถเป็นปากเสียงปกป้องชาวโรฮิงญาได้
เมียนมาเผชิญกับแรงกดดันรุนแรงจากนานาชาติ ตั้งแต่กองทัพเริ่มปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ โดยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาให้สัมภาษณ์ว่า ทหารเมียนมาและกลุ่มม็อบในท้องถิ่นซึ่งเป็นชาวพุทธมีการฆาตกรรมและข่มขืนชาวโรฮิงญา
โดยทางสหประชาชาติกระตุ้นให้เมียนมามีมาตรการความปลอดภัยในการส่งคืนชาวโรฮิงญากลับประเทศ และดำเนินการเพื่อยุติการเหยียดชาติพันธุ์กับชาวมุสลิมโรฮิงญาที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติในประเทศเมียนมาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ
อาบุล คาลาม คณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยบังคลาเทศกล่าวกับสื่อ AFP ว่า คณะทำงานของยูเอ็น ซึ่งมี 26 นักการทูตจาก 15 ประเทศ ได้เดินทางมาเยือนค่าย Konarpara เป็นครั้งแรก โดยสถานที่แห่งนี้ มีผู้ลี้ภัยโรอิงญาอาศัยถูกกักอยู่ถึง 6,000 คนในบริเวณที่รกร้างตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นในปีที่แล้ว
ดิล โมฮัมหมัด ผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาระบุว่า คณะผู้แทน UNSC จะพบและพูดคุยกับเหยื่อผู้หญิงบางรายที่ถูกทารุณกรรมในรัฐยะไข่ รวมทั้งผู้สูงอายุในชุมชน
“ เราบอกพวกเขาว่า เราอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องชีวิตของเรา เราอยากกลับไปที่แผ่นดินที่เราจากมามาก ทางยูเอ็นให้ความมั่นใจกับเราว่าจะทำให้เราปลอดภัย ” โมฮัมหมัดกล่าวกับสื่อ AFP
หลังจากนั้น คณะผู้แทน UNSC จะมุ่งไปที่ค่าย Kutupalong ซึ่งมีชาวโรฮิงญานับร้อยที่ตั้งท่าประท้วงพวกเขาอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมชาวโรฮิงญาชูป้ายเรียกร้องสิทธิของพวกเขาในเมียนมา ผู้สื่อข่าว AFP ที่อยู่ในสถานที่รายงานว่าตำรวจพยายามควบคุมกลุ่มผู้ประท้วงให้อยู่ในความสงบ
“ เราต้องการได้สิทธิพลเมืองภายใต้ชาติพันธุ์โรอิงญา เราต้องการความปลอดภัยและกลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิมและทรัพย์สินเดิมของเรา ” โมฮิบุลลาห์ ผู้นำชาวโรฮิงญาเสริมว่า พวกเขาจะเสนอเงื่อนไข 14 ข้อกับคณะผู้แทนยูเอ็นในการเดินทางกลับเมียนมา
คาดการณ์ว่า การมาเยือนเป็นเวลา 4 วันของคณะผู้แทนที่นำโดยคูเวต อังกฤษและเปรู จะรวมถึงการประชุมกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินาแห่งบังคลาเทศ รวมทั้งการขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจรัฐยะไข่ เพื่อดูสภาพของหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาที่ถูกทำลายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง
Mansour al-Otaibi เอกอัครราชทูตของคูเวตกล่าวในระหว่างการเยือนว่า นี่ไม่ใช่เป็นการประณามเมียนมา แต่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนสำหรับพวกเขาว่า ประชาคมนานาชาติกำลังติดตามดูสถานการณ์และมีความสนใจอย่างมากในการแก้ไขปัญหานี้
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้วิกฤตชาวโรอิงญาในเมียนมาต้องถูกนำขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
“ การขาดการแก้ไขปัญหาจาก UNSC ทำให้รัฐบาลเมียนมาเชื่อว่า จะรอดตัวจากเหตุการณ์สังหารหมู่ ” Kenneth Roth ผู้อำนวยการบริหาร HRW กล่าวกับผู้สื่อข่าวในย่างกุ้ง.