ค้าปลีกญี่ปุ่นแข็งแกร่ง
ตัวเลขค้าปลีกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย. ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในไตรมาส เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายเงินมากขึ้นในการซื้อเสื้อผ้าและของใช้ประจำวัน ส่งสัญญาณว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะที่ตึงตัวของตลาดแรงงาน
โดยยอดค้าปลีกที่เติบโต 2.2% ต่อปีในเดือนก.ย.ยังคงน้อยกว่าการประเมินโดยเฉลี่ยคือ 2.5% ต่อปี แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลข 1.8% ต่อปีในเดือนส.ค.
การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งสนับสนุนข้อโต้แย้งของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ว่า จะสามารถส่งเสริมให้คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจะค่อยๆเพิ่มขึ้นก็ตาม
“ ตัวเลขการบริโภคในไตรมาสเดือนก.ค.- ก.ย. อ่อนแรงลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่แนวโน้มยังคงอยู่ในสภาวะที่ดี” ชูจิ โทนูชิ นักเศรษฐศาสตร์การตลาดอาวุโสประจำ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities ให้ความเห็น
“ การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงมีการฟื้นตัวอยู่ในระดับกลาง แต่ตลาดแรงงานจะเป็นตัวสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอนาคต”
โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตเร็วที่สุดในรอบ 3 เดือน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ต.ค. การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ และแชมพู เพิ่มขึ้น 1.2% ต่อปี เมื่อเทียบกับตัวเลขที่ลดลง 0.4% ในเดือนก่อนหน้านี้
คาดการณ์กันว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ จะส่งสัญญาณที่จะขยายเวลาของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปอีกในการประชุมนโยบายวันที่ 31 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ การประชุมนโยบายมีขึ้นหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในสภาผู้แทนราษฏร ครั้งล่าสุด ซึ่งเพิ่มความคาดหวังว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ ซึ่งเป็นเสาหลักที่สำคัญของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกฯอาเบะ หรือที่เรียกกันว่า ‘ อาเบะโนมิกส์’ จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด
โดยอ้างอิงจากรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเติบโตขึ้น 0.7% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งยังคงห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของ BOJ ถึงแม้ธนาคารจะแย้งว่า ราคาผู้บริโภคจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวและค่าแรงที่ปรับขึ้น.