ไฟป่ารุนแรงขึ้นทั่วโลก
การเกิดเหตุไฟป่าในปี 2560 ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทำให้พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกต้องถูกเผาผลาญเสียหายมากเป็นประวัติการณ์เท่ากับพื้นที่ของประเทศนิวซีแลนด์ อ้างอิงจากรายงานของ Global Forest Watch เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา
ความเสียหายที่น่าตระหนกคือ พื้นที่ป่าที่ถูกเพลิงเผาผลาญทำลายที่สูงถึง 73.4 ล้านเอเคอร์ หรือราว 185 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นถึง 51% เมื่อเทียบกับปีก่อน อ้างอิงจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ในสหรัฐฯ ซึ่งไฟป่าเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดไฟป่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งในหลายพื้นที่ อ้างอิงจากรายงาน
ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในปี 2558 – 2559 ซึ่งมีความรุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่าเนื่องจากปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งในเขตร้อนของโลก
พื้นที่เขตร้อนเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุไฟป่าตามธรรมชาติ แต่เกิดจากความอ่อนแอของระบบการจัดการที่เพิ่มขึ้นและถูกเร่งให้รุนแรงขึ้นโดยปรากฏการณ์เอลนีโญ
ไฟป่าที่รุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตในบราซิลและอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของเหตุสะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย และในปีนี้ ก็เกิดเหตุไฟป่ารุนแรงขึ้นอีกทั้งในโปรตุเกสและรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ พื้นที่ป่าอเมซอนในบราซิลถูกไฟป่าทำลายเสียหายไปมากถึง 9.1 ล้านเอเคอร์ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 3 เท่าของเหตุไฟป่าในปี 2558 ขณะที่ป่าไม้ในโปรตุเกสถูกไฟป่าเผาวอดวายไปถึง 4% ในปี 2560 นี้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
โดยเกือบครึ่งของพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกเพลิงเผาผลาญในสหภาพยุโรปในปีนี้อยู่ในโปรตุเกส ขณะที่ป่ายูคาลิปตัสและสวนสน พร้อมทั้งดินเสียยิ่งเร่งให้ไฟป่าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ โปรตุเกสยังทำลายสถิติสำหรับพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกไฟเผาทำลายเสียหายในปี 2560 และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายหลายสิบคน
ช่วงต้นปีนี้ เกิดเหตุไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกากลาง โดยเผาพื้นที่ป่าวอดไปถึง 37,000 เอเคอร์ในประเทศคองโก
ในปี 2559 มีไฟป่าเกิดขึ้นที่ฟอร์ตแมคเมอร์เรย์ในแคนาดา เผาผลาญพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านเอเคอร์ มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การตัดไม้ทำลายป่าเป็นผลมาจากการทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการทำไม้และเหมืองแร่ ก็มีผลต่อความสูญเสียพื้นที่เช่นกัน
ทั้งนี้ รายงานยังได้กระตุ้นให้มีการปรับปรุงในระบบการบริหารจัดการไฟป่าและป่าไม้ รวมถึงระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า ห้ามการจุดไฟในช่วงอากาศร้อนแห้งแล้งและมีการลงทุนมากขึ้นในการปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้.